กรุงเทพฯ 3 มิ.ย. – กรมชลประทานสั่งชลประทานทั่วประเทศเตรียมรับมือฝนตกหนัก หลังจากกรมอุตุนิยมฯ แจ้งเตือนพายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่าเมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 490 กิโลเมตร พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันตกเล็กน้อย คาดว่าพายุนี้จะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนวันนี้ (3 ม.ย.) และจะเคลื่อนตัวขึ้นสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนใกล้กับเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 4-6 มิถุนายน 2561 ซึ่งพายุนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 4-7 มิถุนายน 2561 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากเกิดฝนตกหนักจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งกำชับให้ติดตามตรวจสอบอาคารและระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมไว้ด้วยแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการฯ ชลประทานติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด โดยให้ร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์น้ำหลากขึ้นในพื้นที่
สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก ได้ให้ทุกโครงการฯเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ไว้ประจำในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมแล้ว ซึ่งสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ทั้งนี้ หากองค์กรปกครองท้องถิ่นหรือประชาชนในพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือสามารถประสานไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทุกคนยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย