กรุงเทพฯ 30 พ.ค. – กรมวิชาการเกษตรเตรียมจับแก๊งค้าต้นพันธุ์ทุเรียน หลังได้รับแจ้งเบาะแสที่ด่านสิงขร จ.ประจวบฯ หวั่นลักลอบนำพันธุ์ไปปลูกเป็นคู่แข่งกระทบเกษตรกรไทย
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานจากสภาเกษตรกร จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ว่า มีการเปลี่ยนการขนถ่ายพันธุ์ทุเรียน ซึ่งเป็นพืชสงวนตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช ปี 2518 ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ไปตรวจสอบบริเวณที่ได้รับการร้องเรียนดังกล่าว โดยพบบริเวณบ้านพักตามที่ได้รับแจ้งมีการกักเก็บต้นพันธุ์ทุเรียนจำนวนมาก รวมถึงต้นพันธุ์มะขาม ลำไย มะนาว ชมพู่ และไม้ผลอื่น ๆ แต่ยังไม่พบเห็นการเคลื่อนย้ายต้นไม้ดังกล่าว เบื้องต้นได้ข้อมูลว่าผู้ส่งออกเป็นคนไทยพลัดถิ่น (พม่าสัญชาติไทย) และนำต้นพันธุ์ทุเรียนมาจากแหล่งอื่น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการปลูกทุเรียน เพราะสภาพดินและน้ำไม่เหมาะสม นอกจากนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้รับแจ้งว่าไม่มีการส่งออกพันธุ์ทุเรียนหรือพืชสงวนอื่น ๆ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการลักลอบส่งออกต้นพันธุ์ทุเรียนตามที่ได้รับรายงาน เนื่องจากพบเห็นต้นพันธุ์ทุเรียนในเขตด่านสิงขร ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่เขตปลูกทุเรียน และหากมีการลักลอบส่งออกไปฝั่งประเทศเพื่อนบ้านแสดงว่าจะต้องมีพื้นที่ปลูกจำนวนมากและมีที่พักสินค้าเพื่อรอการขนย้าย รวมทั้งยังพบว่ามีการใช้รถยนต์ที่ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนรอการขนส่ง นอกจากนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่ขนส่งทางช่องทางอื่นโดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หลังจากได้รับรายงานถึงข้อสังเกตุดังกล่าว จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ซุ่มดูพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากจำนวนต้นพันธุ์ทุเรียนที่เห็นหากใช้รถขนส่งเพียงคันเดียวอาจต้องใช้เวลาขนส่งอีกประมาณ 3 – 4 วัน จึงจะขนส่งได้หมด หากพบว่ามีการลักลอบขนส่งจริงจะแจ้งให้สภาเกษตรฯ แจ้งตำรวจกองปราบเพื่อดำเนินการดักจับในวันต่อไป เพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงมาตราการป้องกันและกฏหมาย แต่หากไม่พบการเคลื่อนย้ายแสดงว่าผู้ประกอบการรับรู้และระวังตัว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้กรมวิชาการเกษตรจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชระนองเข้าเวรประจำทุกวันที่ด่านสิงขร เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและปรามการกระทำผิด และจัดทำป้ายติดประกาศทั้งภาษาไทยและพม่าถึงพืชสงวนของไทยและโทษของการลักลอบส่งออก โดยผู้ที่ฝ่าผืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งจุดมุ่งหมายที่มีการกำหนดพืชสงวนขึ้นใน พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 เนื่องจากเกรงว่าหากพันธุ์พืชที่ดีเหล่านี้ถูกนำไปปลูกในต่างประเทศแล้วจะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการค้าได้จึงห้ามส่งออก พืชสงวนมีทั้งสิ้น 11 ชนิด คือ ทุเรียน ส้มโอ องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม มะพร้าว กวาวเครือ ทองเครือ สละ และสับปะรด.-สำนักข่าวไทย