กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – บอร์ด ทอท.เคาะแล้ว ก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่-ภูเก็ตแห่งที่ 2 วงเงิน 1.26 แสนล้านบาท
นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท. ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ทอท.วันนี้ (24 พ.ค.) เห็นชอบดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารและลดปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานในปัจจุบันสอดคล้องแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการเติบโตปริมาณการจราจรทางอากาศทั้ง 6 ท่าอากาศยาน
นายประสงค์ กล่าวว่า จากคาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศปี 2581 ท่าอากาศยานเชียงใหม่จะมีผู้โดยสารประมาณ 23.33 ล้านคน และเที่ยวบิน 137,790 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทจะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2568 โดยมีความสามารถรองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต จากคาดการณ์ปี 2581 จะมีผู้โดยสารประมาณ 42.42 ล้านคน 211,150 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทจะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2565 รองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี ดังนั้น แม้ ทอท.จะมีการพัฒนาตามแผนแม่บทในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งทางอากาศตามที่มีการคาดการณ์ เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่ท่าอากาศยาน จึงต้องมีการเตรียมการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 เพื่อไม่ให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ จากการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง เช่น ขนาดพื้นที่ ความสะดวกในการเดินทาง ห้วงอากาศไม่ทับซ้อนกับท่าอากาศยานในปัจจุบัน พบว่าพื้นที่เหมาะสมกับการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ส่วนพื้นที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ได้แก่ พื้นที่อำเภอโคกกลอย จังหวัดพังงา ซึ่ง ทอท.ได้ประมาณการเบื้องต้นวงเงินลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง รวมประมาณ 126,000 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ก่อสร้าง คณะกรรมการ ทอท.ให้พิจารณาขนาดที่ดินให้เหมาะสม โดยพิจารณาความสมดุลระหว่างการขยายตัวของสนามบินในอนาคตและระยะเวลาการก่อสร้างที่ต้องไม่ใช้เวลานานจนส่งผลกระทบต่อการให้บริการ ซึ่ง ทอท.จะเร่งศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จและสามารถดำเนินก่อสร้างได้ก่อนระยะเวลาที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ตจะเต็มขีดความสามารถในการรองรับการใช้บริการผู้โดยสาร
นอกจากนี้ บอร์ดเห็นชอบหลักการให้ ทอท.จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อบริหารโครงการฯ ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้าในรูปแบบพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce).-สำนักข่าวไทย