กรุงเทพฯ 4 พ.ค. – ผู้ประกอบการ 6 รายทั้งไทย จีน ยุโรป สหรัฐ ตะวันออกกลาง ยื่นแสดงความจำนงเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในการประมูลยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช ) โดยกลุ่มร่วมค้าไทย-จีน-ตะวันออกกลาง พร้อมหั่นราคาต่ำกว่าปัจจุบันถึงร้อยละ 50
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ (4 พ.ค.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) เข้ายื่นแสดงความจำนงเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีบริษัทเข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติ เบื้องต้น 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (บริษัทแม่อยู่ในสหรัฐ ) บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม(ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทแม่อยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท (บริษัทแม่อยู่ในออสเตรีย) บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด (บริษัทแม่อยู่ในฝรั่งเศส) และกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย พลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group (บริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งจีน), AL Jaber gruop (บริษัทแม่อยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยมีเพียงโททาล บริษัทเดียว (ซึ่งปัจจุบันร่วมทุนกับ ปตท.สผ.ในแหล่งบงกช) ยื่นเจตจำนงจะประมูลแหล่งเดียว คือ แหล่งเอราวัณ นอกจากนั้นอีก 5 ราย ยื่นเจตจำนงจะประมูลทั้ง 2 แหล่ง
โดยขั้นตอนต่อไปบริษัทที่เข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงดังกล่าวจะต้องนำเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติคุณสมบัติเบื้องต้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้มายื่นให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 10 วัน และจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นวันที่ 28 พฤษภาคม 2561
“การประมูลครั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะเกิดการแข่งขันรุนแรงเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะทุกรายที่มาเป็นรายใหญ่ช่วยสร้างสีสัน ขณะที่บางรายได้ระบุพร้อมจะเสนอราคาแข่งขันก๊าซที่ต่ำ โดยภาพรวมแล้วการเดินหน้าประมูลจะเป็นไปตามแผนที่ประกาศไว้ คือ ได้ผู้ชนะเดือนธันวาคมนี้และลงนามในสัญญาเดือน กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งหลังลงนามผู้ชนะต้องยื่น performance guarantee สำหรับแหล่งบงกช 3,500 ล้านบาท แหล่งเอราวัณ 5,000 ล้านบาท หากไม่ลงทุนตามข้อกำหนดใน 1 ปี หลังดำเนินการแล้วก็จะถูกยึดเงินส่วนนี้” นายสราวุธ กล่าว
นายยุทธ เพียรดี กรรมการผู้จัดการ บริษัทพลังงาน 101 กล่าวว่า กลุ่มผู้ร่วมทุนเป็นผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ด้านปิโตรเลียมและการก่อสร้าง โดยมีเงินทุนหมุนเวียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดการประมูล และพร้อมที่จะเสนอราคาก๊าซแข่งขันราคาต่ำที่สุด เพราะมีทั้งเงินทุนและความเชี่ยวชาญพร้อมทุกอย่าง ซึ่งอาจเสนอราคาแข่งขันต่ำกว่าราคาปัจจุบันถึงครึ่งหนึ่ง หากเปรียบเทียบเป็นราคาก๊าซหุงต้มและราคาเอ็นจีวี ก็สามารถขายได้ในราคา 5-6 บาท/กก.เท่านั้น เพราะฉะนั้นหากภาครัฐพิจารณาจากราคาก๊าซฯ เป็นหลัก ทางกลุ่มเชื่อจะแข่งขัน เพราะเสนอราคาต่ำสุด และหากไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ก็จะฟ้องร้องภาครัฐ. – สำนักข่าวไทย