สนามหลวง 24 เม.ย.-งาน 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ วันนี้มีเวทีเสวนา “สุดยอดศิลปวัฒนธรรมไทย ในสมัยรัชกาลที่ 9” พร้อมชมการแสดงงิ้ว เรื่อง รามเกียรติ์
งานมหกรรมวัฒนธรรม “ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” วันที่สี่ ยังคงมีกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยที่โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) มีการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “สุดยอดศิลปวัฒนธรรมไทย ในสมัยรัชกาลที่ 9” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ล้วนทรงสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบมา และร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 236 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มพูนและเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีนาฏดุริยางคศิลป์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์
วันนี้มีการบรรยายในหัวข้อ “ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมไทยในรัชสมัย” โดย ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และการบรรยายในหัวข้อ “นาฏดุริยางคศิลป์ในรัชสมัย” โดยนายชวลิต สุนทรานนท์ นักวิชาการละครและดนตรีทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการละครและดนตรี (โขน ละครและดนตรี) นักวิชาการทั้งสองท่าน กล่าวว่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ผ่านมาเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญของการทำนุบำรุง ฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรี อาทิ พระพุทธรูปสิริปางมารวิชัย จ.สุโขทัย พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ล้วนสะท้อนถึงผลงานสุดยอดศิลปวัฒนธรรมในสมัย ร.9 ทั้งสิ้น
ขณะที่โรงละครแห่งชาติ (โรงใหญ่) มีการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) เรื่อง รามเกียรติ์ ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าชมเต็มทุกที่นั่ง เช่นเดียวกับตลาดภูมิปัญญาบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นจากทั่วประเทศมาจำหน่ายให้เลือกซื้อเป็นของที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีประชาชนร่วมใส่ผ้าไทยทั้งชุดไทยพระราชนิยมและชุดไทยท้องถิ่นมาร่วมงานกันคึกคัก
สำหรับมหกรรมวัฒนธรรม “ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของไทยมาตั้งแต่พุทธศักราช 2325 และเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี ที่ได้ทรงรังสรรค์บ้านเมืองตลอดจนทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และสืบสานโบราณราชประเพณีในทุกแขนงสืบมาเป็นเวลาถึง 236 ปี งานมีวันพรุ่งนี้ (25 เม.ย.) เป็นวันสุดท้าย.-สำนักข่าวไทย