กระทรวงมหาดไทย 30 ก.ย.- ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมคอนเฟอเร้นท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจสถานการ์น้ำท่วมบางพื้นที่ ขอประชาชนอย่าทำลายคันกั้นน้ำ ระบุรัฐมีมาตรการเยียวยา ยืนยันน้ำในเขื่อนหลักสามารถรองรับน้ำฝนระลอกใหม่เดือนตุลาคมได้
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และวีดีโอคอนเฟอเร้นท์ ไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทั่วประเทศ เพื่อสั่งการให้ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ ซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและประชาชนเกิดความตื่นตระหนก
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติ เพราะมวลน้ำจากภาคเหนือและน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลจึงจำเป็นต้องระบายน้ำเข้าไปในบางพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนตั้งข้อสงสัย ว่าเหตุใดถึงไม่มีการระบายน้ำเข้าไป นั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่รอการเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น รัฐบาลจะระบายน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไป ดังนั้น ขอให้ประชาชนเข้าใจและรับฟัง ไม่ทำลายคันกั้นน้ำไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหาย และความเดือดร้อนกับประชาชนทั้งหมด สำหรับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ทั้งพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือน รัฐบาลจะเยียวยาให้ตามระเบียบ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการสำรวจตัวเลขความเสียหาย
นายกฤษฎา กล่าวว่า มีพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง ใน 3 จังหวัด คือ ชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา แต่สถานการณ์จะไม่หนักเหมือนปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในเชื่อนหลัก อย่าง เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณร้อยละ 30-40 ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เป็นน้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก ไม่ใช่ผลกระทบจากน้ำที่กรมชลประทานระบาย และน้ำทะเลหนุน ซึ่งในเบื้องต้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการเร่งติดตั้งระบบระบายน้ำเพิ่มเติม ตลอดจนขุดลอกท่อ เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างการประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ย้ำให้นายอำเภอลงพื้นที่ เพื่อดูสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้ง เพื่อไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และจะได้รับการดูแลจากรัฐอย่างไรบ้าง รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นขณะนี้ มาจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ .-สำนักข่าวไทย