ยะลา 10 เม.ย.-สำนักข่าวไทยยังเกาะติดทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ล่าสุดพบข้อมูลใหม่นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลาได้รับทุนแต่ไม่เคยได้เงินแม้แต่บาทเดียว
นูรอีมา กาเดร์ ชาวนราธิวาส นักศึกษาพยาบาลปี 2 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดยะลา ปรับสมุดบัญชีเพื่อตรวจดูยอดเงินโอนจากเงินกู้ กยศ. มียอดเงินเข้ามา 9,000 บาท เธอจะแบ่งเงินครึ่งหนึ่งไปคืนให้ย่า ที่นราธิวาส ซึ่งให้ยืมมาจ่ายค่าเทอม
นูรอีมาจบ ม.6 จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ นราธิวาส ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.59 ผลการเรียนดีแต่ฐานะยากจน ทำให้เธอตั้งใจเรียน ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เธออยากได้งานมั่นคง ช่วยครอบครัว ช่วยสังคม แล้วเธอก็สอบชิงทุนเรียนพยาบาล ได้ทุนจากองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี 59
ตามหนังสือสัญญาระบุว่าจะได้รับเงินทุนปีละ 40,000 บาท แต่ 2 ปีแล้วเธอยังไม่เคยได้รับเงินทุนรวม 80,000 บาท แม้แต่บาทเดียว ค่าเทอมจึงต้องหันไปกู้กองทุน กยศ. นอกจากค่าเทอมยังมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่พี่ชายซึ่งมีอาชีพรับจ้างช่วยส่งให้ครั้งละ 200 บาท และเธอต้องใช้เงินไม่เกินวันละ 50 บาท
บ้านปูนชั้นเดียว สภาพค่อนข้างทรุดโทรม มีสมาชิกอยู่แออัด ในบ้านต้องแบ่งสัดส่วนพื้นที่กันในหมู่พ่อแม่พี่น้อง เกียรติบัตรนักเรียนดีเด่น ใบเกรดเฉลี่ยผลการเรียนในระดับดีมาก เป็นสิ่งยืนยันการตั้งใจเรียนเพื่อหวังสอบชิงทุนพยาบาล
ส่วนพ่อของนูรอีมามีอาชีพรับจ้าง รายได้วันละ 200-300 บาท เขาบอกว่านูรอีมา ซึ่งเป็นลูกคนที่ 4 เป็นความหวังของครอบครัวที่จะได้งานมั่นคง และส่งเสียน้องเล็กๆ แต่เมื่อลูกไม่ได้รับเงินทุนที่ควรได้ก็ได้แต่ให้กำลังใจ
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลาให้ข้อมูลว่า มีนักศึกษามีชื่อได้รับทุนกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต 12 คน ปี 59 และปี 60 ที่ยังศึกษาอยู่ แต่นักศึกษาไม่เคยได้รับเงิน ฝ่ายทะเบียนนักศึกษาแจ้งแก่เด็กว่ามีเงินจากกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่าเป็นกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตโอนเข้ามาแต่ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นของนักศึกษาคนใด จึงยังไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ เมื่อมีกระแสข่าวการทุจริตเงินกองทุนเสมาฯ นักศึกษาพยาบาลทุนเสมาฯ ยะลา จึงอยากทวงถามสิทธิของตัวเอง เพราะยังไม่เคยได้ยินว่าการตรวจสอบ การทุจริตจากส่วนกลางจะรับทราบหรือไม่ว่านักศึกษาพยาบาลชายแดนใต้ก็มีความทุกข์และความลำบากเพราะไม่ได้รับทุน.-สำนักข่าวไทย