1 ต.ค. – กรมชลประทาน แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ใกล้คลองชัยนาท-ป่าสัก เตรียมพร้อมรับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากน้ำเหนือและฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง เร่งเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าช่วยชาวนาที่ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองชัยนาท-ป่าสัก ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ในพื้นที่ ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี ในหมู่ที่ 3-4-6 ที่ฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมเป็นปริมาณมากกว่าพื้นที่อื่นใน จ.ลพบุรี ชาวบ้านได้เก็บข้าวของเครื่องใช้ เกษตรกรนำตาข่ายมาปิดล้อมบ่อเลี้ยงปลา จากน้ำที่หลากเข้าท่วมเป็นบางพื้นที่แล้ว และน้ำที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นในคลองชัยนาท-ป่าสัก ทางเทศบาลตำบลป่าตาล ได้วางแนวกระสอบทรายพร้อมนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้ง เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่นเดียวกับกรมชลประทานที่ได้สั่งเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่ชุมชนถนนขวาง ต.ป่าตาลใน หมู่ที่ 7 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวงหลายร้อยไร่ ให้ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต และสร้างความเชื่อมั่นถึงการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนได้อุ่นใจ
นอกจากนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ พร้อมเผชิญเหตุจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นและน้ำท่วมฉับพลันในเขตพื้นที่ และมีประชาชนร้องขอให้เปิดประตูระบายน้ำ 5 ประตู
ส่วนสถานการณ์น้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักมีระดับสูงขึ้น โดยแม่น้ำเจ้าพระยา ระบายอยู่ที่ 1991 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำสูงขึ้นประมาณ 10 ซม. และเขื่อนพระรามหก ระบายน้ำที่ 497.12 ลบ.ม./วินาที น้ำในแม่น้ำป่าสักสูงขึ้น 10 ซม. ยังคงล้นตลิ่งท่วมพื้นที่สองฝั่งใน อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะที่ ต.วัดตะกู อ.บางบาล ยังเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมากที่สุด โดยที่หมู่ 9 ต.ตะกู ระดับน้ำสูงขึ้นจนเกือบถึงพื้นบ้านของประชาชน แม้ยกพื้นสูงแล้ว โดยความลึกอยู่ที่ 2-3 เมตร ประชาชนส่วนใหญ่ขาดการติดต่อกับโลกภายนอก ต้องใช้เรือในการสัญจรไปมาออกไปยังถนนหลัก เนื่องจากถนนในหมู่บ้านน้ำท่วม และยังพบว่ามีบ้านเรือนประชาชนหลายหลังที่มีผู้สูงอายุและคนพิการที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่ประสบปัญหาไม่มีเรือ
ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ประชาชนต้องเดินลุยน้ำลากเรือรับประชาชนไปทำบุญที่วัด เนื่องจากเป็นวันทำบุญสารทไทย ด้านนายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ นายอำเภอผักไห่ มีหนังสือแจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 หลังจากที่มีการประชุมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในการสำรวจพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวพื้นที่ประตูระบายน้ำเสร็จแล้ว ขอให้ชลประทานเปิดประตูระบายน้ำ 5 ประตู ได้แก่ ประตูระบายน้ำลาดชะโด ประตูระบายน้ำบางแก้ว ประตูระบายน้ำมะขามเทศ ประตูระบายน้ำลาดชิด ประตูระบายน้ำวัดใบบัว และท่อระบายน้ำหนองตะเกียง และบ้านหนองควาย เพื่อบรรเทาปริมาณไปยังพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางชลประทานได้รับทราบและอยู่ระหว่างดำเนินการเสริมคันดิน
ความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหาถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หมู่ 3 ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ที่ถูกน้ำกัดเซาะดินใต้ถนนพังทลายเป็นช่วงๆ ลึกเข้าไปกว่า 1 เมตร เป็นระยะทาง 300 เมตร ซึ่งเสี่ยงถนนทรุดตัวและพังลงแม่น้ำ โดยเทศบาลตำบลสรรพยา ต้องนำดินเข้าไปถมตลิ่งริมถนนเพิ่มอีกกว่า 250 คันรถ หลังจากที่ 3 วันก่อนได้นำไปถมแล้วกว่า 100 คันรถ แต่เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำมากขึ้นเป็น 1,998 ลบ.ม./วินาที ทำให้ดิน 100 คันรถ ที่เคยนำไปถมไว้ละลายไปกับน้ำ จึงต้องนำดินไปถมเพิ่มอีก แต่คราวนี้จะใช้รถแบ็กโฮอัดดินเข้าไปใต้ถนนทำเป็นสโลป และใช้พลาสติกคลุมดินตลอดแนวถนน ป้องกันดินถูกน้ำเซาะพังทลายอีก
ส่วนที่ กทม.ตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังจุดเสี่ยง 2 เขต วางกระสอบทรายสร้างคันกั้นน้ำ หวั่นซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 54
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ลงเรือตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจุดเสี่ยงวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 โดยกล่าวภายหลังว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการปล่อยน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม./วินาที ซึ่งศักยภาพในการรองรับน้ำอยู่ที่ 2,400 ลบ.ม./วินาที แต่หากมีฝนตกลงมาเพิ่ม อาจทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำเสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยประสบอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ช่วงบริเวณซอยเขียวไข่กา เขตดุสิต, ซอยจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด โดยสำนักการระบายน้ำได้นำกระสอบทรายจัดเรียงเป็นแนวคันกั้นน้ำชั่วคราว ความสูงกว่า 2 เมตร รวมถึงจุดที่เป็นฟันหลอได้วางกระสอบทรายตลอดแนวยาว 4 กิโลเมตร ซึ่งมีท่าเรืออยู่จำนวน 100 ท่า พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่เต็มกำลัง เฝ้าระวังน้ำเหนือ น้ำหนุนอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะพ้นช่วงฤดูฝน
ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้
น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติ เพราะมวลน้ำจากภาคเหนือและน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลจึงจำเป็นต้องระบายน้ำเข้าไปในบางพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่มีการระบายน้ำเข้าไปนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรที่รอการเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น รัฐบาลจะระบายน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไป ดังนั้น ขอให้ประชาชนเข้าใจและรับฟัง ไม่ทำลายคันกั้นน้ำ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายและความเดือดร้อนกับประชาชนทั้งหมด สำหรับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ทั้งพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน รัฐบาลจะเยียวยาให้ตามระเบียบ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจตัวเลขความเสียหาย. -สำนักข่าวไทย