กทม.10 เม.ย.-วสท.เตรียมออกมาตรฐานความปลอดภัยกลุ่มอาคารที่พักอาศัย หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ เผยเป็นอาคารที่ก่อให้ เกิดความสูญเสียมากที่สุดร้อยละ 80
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดสัมมนา “บทเรียนเพลิงไหม้อาคารสูงซอยเพชรบุรี 18” โดยมีผู้ประกอบการจากอาคารสูง คอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม โรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจนนักวิศวกร เข้าร่วมรับฟังมาตรการรักษาความปลอดภัย และแนวทางการป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูงและอาคารเก่า หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ จนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก
นายธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ก่อสร้างอาคารก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ปี 2535 ละเลยต่อการแก้ไขปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานป้องกันอัคคีภัย ภายใต้กฎกระทรวงฉบับที่ 47 ปี 2540 ออกมาตรการบังคับใช้ดูแลความปลอดภัยอาคารสูง 6 ข้อ เช่นติดตั้งบันไดหนีไฟ เครื่องมือดับเพลิง ระบบสัญญาณเตือนภัยทุกชั้น เป็นต้น
โดยในปี 2561 วสท.จะเดินหน้าตัดทำแผนเพิ่มเติมอีก 2 มาตรฐาน คือ ความปลอดภัยอัคคีภัยในอาคารสถานพยาบาล และความปลอดภัยอัคคีภัยกลุ่มอาคารที่พักอาศัย โดยก่อนหน้านี้ในปี 2560 ออกมาแล้ว 4 มาตรฐาน คือ การป้องกันอัคคีภัย ,การควบคุมควันไฟ ,การตรวจสอบ และดูแลดับเพลิงด้วยน้ำ สุดท้ายการป้องกันอัคคีภัยสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม มาตรฐานเหล่านี้หวังสร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ด้านนายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท.กล่าวว่า ในไทยแบ่งอาคารออกเป็น 9 ประเภท คือ โรงแรม , โรงพยาบาล , ห้างสรรพสินค้า , โรงงาน , สำนักงาน , อาคารพักอาศัย , อาคารตลาดเก่า , โรงเรียน สถานศึกษา และสถานบริการ โดยจากสถิติหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาคารพักอาศัยจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุดถึงร้อยละ 80 เนื่องจากมีผู้พักอาศัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ตรวจสอบอาคาร เจ้าหน้ารัฐ ผู้ประกอบการ และผู้อยู่อาศัย ต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงหากเกิดเหตุไม่คาดคิด มาตรการรักษาความปลอดภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีระบบเตือนภัย ป้องกันอัคคีภัยให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน .-สำนักข่าวไทย