กรุงเทพฯ 28 มี.ค.- กกต. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการแก่พรรคการเมืองเก่า เพื่อทำความเข้าใจให้ดำเนินการสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พรรคเก่าเข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง จี้ กกต.สร้างความชัดเจนเรื่องที่ต้องดำเนินการ
ที่โรงแรมเซ็นทรา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการแก่พรรคการเมืองเก่า เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจให้พรรคการเมืองต่างๆดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยวันนี้ มีแกนนำพรรคการเมืองเก่าเข้าร่วมกันอย่างครบครัน ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และกรรมการการเลือกตั้ง รวมถึงผู้บริหาร กกต.จะชี้แจงถึงสิ่งที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่จะต้องดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่ง กกต. เชื่อมั่นว่า การประชุมในวันนี้จะให้ความชัดเจนกับพรรคการเมืองเดิม ที่เข้าร่วมการประชุมวันนี้ ซึ่งปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนอยู่แล้ว 69 พรรค และตอบรับเข้าร่วม 55 พรรค 308 คน
ก่อนการประชุมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้หารือกับ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และนายแสวงบุญมี รองเลขาธิการ กกต.ถึงประเด็นปัญหาการจ่ายเงินสมาชิกพรรคการเมือง ในกรณีที่สมาชิกไม่สามารถจ่ายได้ทันภายใน 30 วัน ตาม ระยะเวลาที่คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 กำหนดไว้ จะทำอย่างไร เนื่องจากมีข้อกฎหมายเปิดช่องไว้ว่า แม้สมาชิกจะไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง แต่สามารถรักษาสถานะได้อีก 4 ปี ซึ่ง คำสั่ง คสช. ไม่ได้กำหนดเจตนารมณ์ไว้ว่า คนกลุ่มนี้จะต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ จึงอยากให้เรื่องนี้มีข้อยุติ
ประธาน กกต. ชี้แจงว่า ทาง กกต.ไม่สามารถชี้แจงนอกเหนือจากประกาศคำสั่งที่ออกมาได้ เนื่องจากไม่ทราบเจตนารมณ์ของคำสั่ง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ได้เสนอให้ไปสอบถามความเห็นทางกฎหมาย จากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.
ด้านนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. ยกเลิกคำสั่งที่ 57/2557 พร้อมขอให้ยกเลิกกระบวนการไพรมารี่โหวต เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง พร้อมเสนอวันเลือกตั้งให้เกิดขึ้นวันที่ 30 ธันวาคม 2561
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสาร “การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 และกรอบระยะเวลาการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง” ที่จัดทำโดยนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ฝ่ายกฎหมาย ได้ระบุเกี่ยวกับกิจการที่ขอดำเนินการอนุญาตได้ ให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ได้ แม้จะยังไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ก็ตาม เช่น การหาสมาชิก หรือการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยในส่วนของพรรคการเมืองเก่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ส่วนพรรคการเมืองใหม่เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม แต่ต้องขออนุญาตจากคสช.ก่อน
ส่วนกิจการที่ยังดำเนินการไม่ได้ทั้งพรรคการเมืองเก่าและใหม่ คือการจัดประชุมใหญ่พรรคการเมือง การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง การจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และการประชุมสมาชิกพรรคการเมือง จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558.-สำนักข่าวไทย