กรุงเทพฯ 24 มี.ค.-กฟผ. เตรียมแผนรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น
และรองรับแผนหยุดจ่ายก๊าซฯ แหล่งเมียนมา ขอความร่วมมือจากทุกภาคประหยัดไฟฟ้า
ด้านหลายหน่วยงานร่วมรณรงค์ Earth
Hour 2018 ปิดไฟ 1
ชั่วโมงค่ำนี้ ตั้งแต่เวลา 20.30 -21.30 น.
นายพิพัฒน์
วรคุณพิเศษ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้
นับตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของประเทศ ในปี 2561 อยู่ที่ 29,943 เมกะวัตต์
ประกอบกับมีแผนการหยุดซ่อมบำรุงรักษาแหล่งก๊าซธรรมชาติของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ประจำปี 2561 ของ ปตท. ในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 23 เมษายน 2561
ซึ่งจะมีการหยุดจ่ายก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกบางส่วน
เพื่อบำรุงรักษาประจำปีและการติดตั้งอุปกรณ์ ในแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน
ตามลำดับ ซึ่ง กฟผ. ได้ประสานงานกับ ปตท. เพื่อเตรียมมาตรการรองรับแผนการหยุดจ่ายก๊าซฯ
ดังกล่าว และเตรียมบริหารจัดการกำลังผลิตและเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า มีมาตรการรองรับการไฟฟ้า
หากเหตุการณ์ฉุกเฉิน กระทบต่อความมั่งคงในเขตนครหลวงในช่วงที่ลดการจ่ายก๊าซฯ
อีกด้วย
“ทั้ง
สามการไฟฟ้าและ ปตท.ได้ประสารงานร่วมกัน เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียงพอ แต่ก็ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคนร่วมกันรณรงค์ประหยัดไฟฟ้า
เพื่อให้การใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นายพิพัฒน์
กล่าวในที่สุด
และวันนี้ เป็น วัน Earth
Hour 2018 หลายหน่วยงาน ออกรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย
ให้ร่วมกันลดใช้ไฟ 1 ชั่วโมง เช่น
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เชิญชวน ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ถอดปลั๊กพักเครื่องใช้ไฟฟ้า
เริ่มได้พร้อมกัน. ,ด้าน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ระบุปิดไฟเป็นเวลาเพียงแค่ 60 นาที ของคน 2.2 ล้านคน
สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเท่ากับลดจำนวนรถยนต์ในถนนไปถึง 48,000 คัน หรือช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
ในขณะที่วันนี้ ที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลแกรนด์
พระราม 9 ทางกรุงเทพมหานครจะจัดกิจกรรม
Earth Hour 2018 Bangkok เป็นปีที่ 11 รณรงค์รักษ์โลกโดยการ”ปิดไฟ
1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+Earth Hour 2018)”
พร้อมกับเมืองใหญ่ทั่วโลก 187 ประเทศ และ 7,000 เมืองทั่วโลก ตั้งแต่เวลา 20.30
-21.30 น. และได้กำหนดจุดปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ในสถานที่สำคัญไว้
5 จุด ได้แก่ 1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระบรมมหาราชวัง 2.วัดอรุณราชวรราม 3.เสาชิงช้า 4.สะพานพระราม 8 และ
5.ภูเขาทอง และขอความร่วมมือไปยังสถานที่ราชการทุกแห่ง
รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจใหญ่น้อย เจ้าของอาคาร ร่วมกันปิดไฟที่ไม่จำเป็นด้วย โดย
10 ปีที่ โครงการ Earth Hour ในพื้นที่กรุงเทพมหานครช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้
1,953 เมกกะวัตต์ เท่ากับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,016
ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 7,680,000 บาท –สำนักข่าวไทย