รพ.จุฬาฯ 20 มี.ค.-วงเสวนาติงกรมปศุสัตว์ ไม่ให้ข้อเท็จจริงการฉีดวัคซีนในสัตว์ หากทำครบจริงตามเป้า ทำไมระบาด ย้ำทุกพื้นที่ของไทย ต้องเป็นสีแดง เพื่อให้คนเกิดความระวัง เชื่อทั้งประเทศไม่มีพื้นที่เหลือง เขียว แค่ข้อมูลไม่ครบ พร้อมแนะปรับเกณฑ์การรับวัคซีนในคนใหม่ให้เท่าองค์การอนามัยโลก ทั้งการรับเซรุ่มในบาดแผลที่มีเลือดออก และฉีดวัคซีนต่อเนื่อง 3 เข็ม
ในการเสวนาวิชาการ ‘ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า’ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในไทย เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 ราย แต่สถานการณ์ก็จบลงแบบละมุ่นละม่อม แต่เพิ่งมาปี 2561 ที่ขณะนี้พบผู้เสียชีวิตเริ่มมากขึ้น และเรื่องปัญหาพิษสุนัขบ้ากำลังถูกเปลี่ยนประเด็นด้วยเรื่องการเก็บภาษีสุนัขและแมวแทน ซึ่งปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ทั้งการไม่เชื่อมโยงข้อมูลหรือบรูณาการร่วมกัน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า โดยกรมปศุสัตว์ ต้องมีการตั้งคำถามว่า หากมีการฉีดวัคซีนในสัตว์ครบตามเป้าหมายจริง ทำไมถึงเกิดการระบาด มากเช่นนี้ หากมีการทำหมันสัตว์ ทำไมจำนวนสุนัขจรจัดถึงเพิ่มมากขึ้น บางพื้นที่พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัขมากถึงร้อยละ 50 โดยสถานการณ์ของโรคที่พบมาก เริ่มมีการส่งสัญญาณมาตั้งแต่ ปี 2559 แล้ว แต่เรื่องก็เงียบเฉยและตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าที่เพิ่มมากขึ้นเชื่อว่า เป็น มาตั้งแต่ปีก่อนหน้าปี 2559 อีก1-2 ปี เชื่อว่าเรื่องนี้มีการให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง โกงตัวเลข อีกทั้งการระบุแบ่งพื้นที่การระบาดของโรคในสัตว์เป็น สีแดง สีเหลือง สีเขียว ทำให้คนขาดการเฝ้าระวัง และความจริงเชื่อว่าประเทศไทย มีแต่พื้นที่สีแดงเท่านั้น การไม่บอกว่าพบสุนัขและแมวป่วย ใช่ว่าจะไม่มี เพียงแต่ไม่ได้รายงาน เราจะมั่นใจอย่างไรว่าไม่มีสัตว์ป่วยจริง
ส่วนกระทรวงสาธารณสุข มองว่า ต้องเตรียมวัคซีนในคนให้พร้อมและเห็นควรให่เร่งปรับเกณฑ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนใหม่ ใช้เกณฑ์เดียวกับองค์การอนามัยโรคที่กำหนดให้มีการฉีดเซรุ่มในบาดแผลที่ถูกกัดและมีเลือดออกเพื่อกดภูมิ แต่ไม่ต้องให้ตามจำนวนน้ำหนักตัวเหมือนในอดีต และจากนั้นให้ฉีดวัคซีน 3 เข็ม เพื่อป้องกันความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากทำให้เสียชีวิตยังพบว่าเชื้อสามารถอยู่ในร่างกายได้นาน ถึง 8 ปี และการแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ได้จำกัดแค่การกลัวน้ำ แต่ยังพบอาการอ่อนแรงด้วย
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า จะโทษ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)อย่างเดียวไม่ได้เพราะทำหน้าที่ชี้ว่า สิ่งใดดำเนินการผิดก็ให้แก้ไข ต้องกลับกันว่า ได้มีการแก้ไขแล้วหรือยัง ปัญหาการขาดแคลนวัคซีน เชื่อว่ายังมีอยู่ เพราะทราบว่ากรมปศุสัตว์ มีการสั่งวัคซีนโดยตรง โดยไม่รอการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)พร้อมเสนอแนวทางการทำหมันในสัตว์ เป็นอีกหนทางหนึ่งเพื่อลดประชากรสุนัขและแมว โดยควรใช้ ซิงค์กลูโคเนตฉีดลงในไข่ของสัตว์ตัวผู้ เหมาะกับสุนัข เพื่อไปทำให้ท่อทางเดินของเชื้อในลูกอัณฑะตีบ ช่วยลดประชากรสุนัขลงได้ โดยอัตราค่าใช้จ่ายตก 8 บาทต่อหลอดเท่านั้น ซึ่งหลังจากมีการใช้ในพื้นที่จ.สมุทรปราการนอกจากประชากรสุนัขจรจัดจะลดลง ยังช่วยให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตดี ไม่ต้องเจ็บทรมานจากแผล ขณะเดียวกันสุนัขยังคงมีความเป็นเพศชายอยู่เพียงแต่ไม่เพิ่มจำนวนสุนัข
ด้านนายสัตวแพทย์พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาการเสียชีวิตในคน ขณะนี้ยังเป็นเรื่องของการละเลยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน และส่วนใหญ่คนยังไม่ทราบว่า เมื่อติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและมีการแสดงอาการแล้ว จะเสียชีวิต โดยการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้เสียชีวิตบางรายแค่ถูกข่วน แต่เชื้ออยู่ในร่างกายนานและเพิ่งแสดงอาการภายหลัง ดังนั้นหากถูกกัดต้องล้างแผล ใส่ยา กักสุนัขและพบแพทย์.-สำนักข่าวไทย