ทำเนียบฯ 5 ต.ค.-นายกฯ เป็นประธานเปิดโครงการเยาวชนอาเซียนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาท พร้อมให้โอวาทแก่เยาวชน เน้นเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์ใช้สิ่งใหม่โดยไม่ทิ้งของเก่า และเห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่พิธีกรรมเฉพาะหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “เยาวชนอาเซียนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาท” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 พร้อมให้โอวาทแก่เยาวชนผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเน้นย้ำให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อมุ่งหวังให้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืนในทุกด้าน ด้วยการพัฒนาคนทุกระดับให้มีความพอเพียงเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทุกด้านและกระแสโลกาภิวัตน์ โดยย้ำว่า ต้องการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงพิธีกรรมเฉพาะหน้า
“ขณะนี้ วิธีการในการคิดนั้นหายไป ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้คิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยี จะหายจากกระบวนการความคิด คิดยาว ๆ ไม่ค่อยได้ คิดได้แต่สั้น ๆ เพราะมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เช่น เวลาเกิดปัญหาอะไร แทบไม่มีการค้นหาแนวทางแก้ปัญหาจากหนังสือ แต่จะค้นหาจากกุเกิ้ลและยูทูป ซึ่งสิ่งนี้ ก็ทำให้กระบวนการทางความคิดนั้นหายไป ประเทศไทยจึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้ได้ โดยที่ไม่ทิ้งของเก่า โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทุกประเทศต้องมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง และวันนี้ก็มีประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง ดังนั้นขอให้ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับทุกประเทศ โดยประชาชนของทุกประเทศ และนี่จะเป็นความยั่งยืนที่สอดคล้องกับการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนตามมติของสหประชาชาติ 167 เป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าไปอีก 14 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ยังต้องทบทวนว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหลักยึดมั่นอย่างไร ซึ่งต้องมองทุกด้านและต้องใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิตและแก้ปัญหาประเทศชาติ แม้ว่าจะมีความยาก แต่ไม่เกินความพยายามของทุกคน อยากให้เยาวชนทุกคนมีความเชื่อมโยงในทุกโครงการที่เป็นปประโยชน์กับการสร้างทรัพรยากรบุคคลในระยะยาว และมุ่งหวังให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย สิ่งเหลานี้จะเป็นความยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่ง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มากมาย แต่ประเทศไทยใช้หลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ปัญหา ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ได้ทันเวลา เพื่อเตรียมพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ประเทศไทยมีประชาชน 70 ล้านคน ผมก็ทำเพื่อประชาชนทุกคน ไม่ใช่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง ยืนยันว่าทุกรัฐบาลทำเพื่อคนไทยทุกคนอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้โลกและอากาศอยู่ในสภาวะเปลี่ยนแปลง หลายอย่างมีปรากฏการณ์ที่อันตราย จึงต้องเตรียมความพร้อมด้วยตัวเราเอง เพราะทุกคนคือพลังสำคัญของโลก ดังนั้นจึงอยากให้พิจารณาว่าจะสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทยไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร คำว่าประยุกต์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องต่อเนื่องและยั่งยืน โดยไม่ต้องบังคับด้วยกฎหมาย ทั่วโลกใช้กฎหมายมามากเพียงพอแล้ว และทำให้เกิดความขัดแย้งพอสมควร ดังนั้นจึงต้องทำให้ทุกคนมีจิตสำนึกว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติสงบและปลอดภัย โดยไม่ได้มองเพียงแค่ความเดือดร้อนของตัวเอง คนใกล้ตัว ต้องนึกถึงผู้อื่นด้วย การพัฒนาคน ไม่ใช่การบังคับ แต่ต้องให้เรียนรู้การใช้ชีวิตในการเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปตนเองและทุกด้าน
“การคิดใหม่ทั้งหมด บางทีอาจไม่ถูกต้อง ก็ต้องนำของเก่ามาคิดด้วย ดังนั้นเยาวชนต้องให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่สองบรรทัดในกุเกิ้ลหรือยูทูปเท่านั้น ทั้งนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีหลักการยึดมั่น ก็จะมีการแย่งชิงผลประโยชน์ เอาเปรียบ มีความเหลื่อมล้ำกัน ความเป็นธรรมก็ไม่เกิด และจะทำให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามการสู้รบอย่างแน่นอน วันนี้จึงต้องมาพูดคุยเรื่องหลักการในการดำรงชีวิต และเยาวชนแต่ละประเทศที่มาพบกันในวันนี้สามารถแลกเปลี่ยนหลักการกันได้ จะได้ไม่มีความขัดแย้งกันในวันหน้า” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้ถือว่าในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จึงต้องคิดต่อยอด พร้อมพัฒนาเชื่อมโยง แต่อย่ามองแค่สมาชิกอาเซียนเท่านั้น ควรเชื่อมโยงถึงระดับโลกเพื่อพัฒนาประเทศให้ได้ผลและยั่งยืน สิ่งสำคัญ คือ เมื่อพบปะแลกเปลี่ยนกันกับประเทศต่าง ๆ ต้องยิ้มแย้มให้กัน ไม่ใช่มีแต่ความขัดแย้ง เพราะทุกคนคือมนุษยชนด้วยกันทั้งสิ้น จึงขอให้เยาวชนทุกคนมีความสามัคคีและมิตรภาพต่อกัน มีเหตุผลในการดำเนินชีวิต มีการวางแผนการใช้ชีวิต เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาลว่าประเทศไทยจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ก็ต้องพิจารณาให้เป็นอย่างดี เช่น การลงทุนต้องวางแผนอนาคต ลงทุนแต่น้อยก่อน แล้วค่อยสร้างให้แข็งแรง ไม่ใช่การลงทุนเพิ่มแต่แรกแล้วหวังว่าอีก 20 ปีจะได้เงินทุนคืนมา สิ่งนี้คือปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ อย่าเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อนมากจนเกินไป โดยที่ไม่มีหลักประกันความเสี่ยงมาคุ้มครอง เพราะขณะนี้สถานการณ์การเงินของโลกมีปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ โลกกำลังเข้าสู่โลกการปฏิรูปเศรษฐกิจสมัยที่ 4 ของโลก คือ การใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ประเทศไทยต้องคำนึงถึงแรงงานไทยด้วย ขณะที่สินค้าเกษตร นับวันก็ยิ่งลดลง จึงต้องส่งเสริมให้มีมูลค่าสูงขึ้น ด้วยการรวมพลังของเยาวชนทุกคน แม้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานด้านการเกษตร เพราะมีรายได้น้อย แต่ต้องร่วมกันพัฒนาให้อาเซียนเป็นธนาคารอาหารของโลกให้ได้.-สำนักข่าวไทย