กรุงเทพฯ
15 ก.พ.-ยูเออี พร้อมประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ รอเพียงการประกาศทีโออาร์ เดือนมีนาคมนี้
ชี้การเงินและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งจากการลงทุนทั่วโลกสามารถแข่งขันสู้รายเดิมได้
ด้าน กระทรวงพลังงานเตรียมนำทีโออาร์เข้าสู้ที่ประชุม กพช.7
มี.ค.สูตรจะอ้างอิงน้ำมันดิบดูไบทดแทนสูตรเดิมอ้างอิงน้ำมันเตา
นายราเชด อัล บลูชิ (Mr.Rashed
Al Blooshi) กรรมการผู้จัดการ
บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท
มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแข่งขัน สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แหล่ง
คือแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานเดิมลงในปี 2565-2566 โดยขณะนี้รอความชัดเจนร่างทีโออาร์ที่รัฐบาลไทยจะประกาศในเดือนมีนาคมนี้ ดังนั้น จึงไม่สามารถระบุได้ว่า จะเข้าประมูลในรูปแบบ
ป็นผู้ดำเนินการ (Operator) หรือจะร่วมมือกับพันธมิตรในการร่วมประมูล
ซึ่งจากการที่บริษัทแม่ คือ Mubadala Investment Company
(MIC) เป็นบริษัทกองทุนเชิงกลยุทธ์ของ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีถือหุ้นทั้งหมด มีประสบการณ์ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจลงทุนในกว่า
30 ประเทศทั่วโลก และมีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน
จึงมั่นใจว่าจะเป็นยุทธศาตร์ในการแข่งขันประมูลครั้งนี้
“จุดแข็งสำคัญของบริษัท คือ
มีความสามารถทางด้านเงินลงทุน
มีคุณภาพเรื่องการดำเนินการในด้านความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความชำนาญในการผลิตปิโตรเลียมทั่วโลก
เช่น โครงการผลิตก๊าซที่แหล่งดอลฟิน (Dolphin Gas Project)ในตะวันออกกลาง ที่วางท่อส่งก๊าซยาว 364
กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 ประเทศ คือ การ์ต้า ยูเออี และโอมาน รวมถึงพนักงานทั้งคนไทยและยูเออีมีประสิทธิภาพที่ดี
ก็จะช่วยการประมูลครั้งนี้และสนับสนุนการทำงานในด้านรักษาอัตราการผลิตของบริษัทในไทยได้ต่อไป”
นายราเชดกล่าว
ทั้งนี้ มูบาดาลา เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี
2547 จนถึงปัจจุบันใช้เงินลงทุนรวมจ่ายภาษีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้มีกำลังผลิตน้ำมันดิบรวมประมาณ
3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ใน 3 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งมโนราห์ กำลังผลิต 7,500
บาร์เรลต่อวัน แหล่งนงเยาว์ กำลังผลิต 8,000-8,500 บาร์เรลต่อวัน และแหล่งจัสมิน
กำลังผลิต 1.3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
โดยปีนี้ คาดว่า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 270-300 ล้านบาท
เพื่อดำเนินการรักษาอัตราการผลิตใน3แหล่งดังกล่าว
นายราเชด กล่าวด้วยว่า
บริษัทมองการลงทุนในอาเซียนว่าเป็นการลงทุนระยะยาว โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ
ฮับในการลงทุน ซึ่งนอกจากลงทุนในไทยแล้วยัง ยังร่วมทุนกับบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซีย
โดยเป็นผู้ดำเนินงานในแปลงสัมปทานเลขที่ SK320 ในโครงการผลิตก๊าซขนาดใหญ่รวมถึงแหล่ง Pegaga คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2563 รวมถึงยังมีโครงการผลิตก๊าซและพลังงานทดแทน
ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ในอินโดนีเซีย รวมถึงลงทุนด้านปิโตรเลียมในเวียดนาม
“ไทยเป็นฮับของมูบาดาลาในภูมิภาคอาเซียน
โดยนอกจากมีที่ตั้งที่เชื่อมโยงกับประเทศต่างๆแล้ว
ยูเออีและไทยยังมีสัมพันธ์ ที่ดีกว่า 40 ปีแล้ว มีการเทรดดิ้งน้ำมัน ผ่าน ปตท. โดยนำเข้าจากยูเออีถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการน้ำมันของไทย
นับเป็นการดำเนินงานแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ที่ดีต่อกัน”นายราเชดกล่าว
สำหรับการดำเนินการในไทย
มูบาดาลามีพนักงานประมาณ 200 คน และร้อยละ 85 เป็นคนไทย
และจากช่วงราคาน้ำมันดิบตกต่ำเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้บริการจัดการ
ลดต้นทุนทุกด้าน ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่อบาร์เรล จาก35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลลงมาอยู่ที่ประมาณ
20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดต้นทุนผลิตต่อหลุมผลิตจาก
7 ล้านดอลลาร์ เหลือ 3 ล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันจากการจัดการและใช้เทคโนโลยีก็ทำให้สามารถผลิตน้ำมันจากแหล่งจัสมินได้รวมสูงถึง
70 ล้านบาร์เรล จากที่ในช่วงต้นคาดว่าจะมีสำรองเพียง 7 ล้านบาร์เรลเท่านั้น
ทั้งนี้ บริษัทก็สนใจเข้าร่วมโครงการต่างๆที่มีความคุ้มค่าในประเทศไทย
เช่น การนำเข้าแอลเอ็นจี หรือการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ผ่านทางบริษัท Masdar ที่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านพลังงานทดแทนของ
MIC
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ขณะนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
กำลังพิจารณานำทีโออาร์ประมูลแหล่งเอราวัณแลบงกช
เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในวันที่ 7 มี.ค.นี้
และเสนอเข้าครม.พิจาณาต่อไป โดยเงื่อนไขทีโออาร์ที่ยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุป คือ
จะมีการกำหนดเพดานราคาก๊าซสูงสุด เพื่อใช้ในการประมูลหรือไม่ หรือจะกำหนดราคากลาง
รวมทั้งการปรับสูตรราคาซื้อขายก๊าซ ที่ไม่ต้องการให้แตกต่างจากปัจจุบัน
แต่เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกนั้น
กำลังพิจารณาว่าจะปรับสูตรจากอ้างอิงน้่ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน
เป็นอ้างอิงราคาน้ำมันดิบดูไบแทน ส่วนจะย้อนหลัง 6-12 เดือนหรือไม่
หรืออ้างอิงรายเดือน ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐมนตรีฯเป็นหลัก แต่ทั้งนี้
เอกชนผู้ผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ มองว่า สูตรราคาย้อนหลัง 6-12 เดือน
จะช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าไม่ผันผวนจนเกินไป โดยหลักจาก ออกประกาศทีโออาร์ เดือนมี.ค.คาดว่าจะรู้ผลผู้ชนะการประมูลได้ภายในสิ้นปี2561
และลงนามในสัญญากับผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือนก.พ. 2562-สำนักข่าวไทย