กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – กฟภ. เผยพิสูจน์แล้ว “กล่องประหยัดพลังงาน” ไม่ทำให้ประหยัดพลังงานได้จริง
นายสมพงษ์ ปรีเปรม รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวมีกล่องประหยัดพลังงานขายตามท้องตลาด โฆษณาว่า หากติดกล่องนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพิสูจน์กล่องที่ผู้ขายเรียกว่า “กล่องประหยัดพลังงาน” แล้ว ความจริงเป็นเพียงกล่องเก็บประจุไฟฟ้า หรือตัวปรับค่า Power Factor เมื่อติดตั้งกล่องนี้แล้ว ส่วนที่เรียกว่าตัวประกอบพลังงานไฟฟ้าจะมีค่าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มิเตอร์ที่ใช้วัดไฟในบ้านผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนมีส่วนประกอบ 3 ส่วน ส่วนแรก เรียกว่า “แรงดัน” ไฟบ้าน คือ 220 โวลต์ ส่วนที่ 2 คือ กระแสไฟฟ้า และส่วนที่ 3 คือ ค่าตัวประกอบพลังไฟฟ้า
โดย แรงดัน 220 โวลต์ ระบบที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟทุกครัวเรือนมีค่าคงที่ ส่วนที่จะเปลี่ยนแปลงมี 2 ส่วน คือ ส่วนของกระแสไฟฟ้าและค่าตัวประกอบพลังไฟฟ้า เครื่องที่ว่าอาจทำให้กระแสไฟฟ้าลดลง แต่ผลของมันจะทำให้ค่า Power Factor สูงขึ้น เมื่อรวม 3 ค่าเข้าด้วยกัน หน่วยที่วัดออกมาเป็นกิโลวัตต์ที่ใช้งานหรือหน่วยไฟฟ้ามีค่าเท่าเดิม จึงพิสูจน์แล้วว่ากล่องดังกล่าวไม่สามารถทำให้ประหยัดพลังงานได้อย่างแท้จริง
สำหรับเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสนับสนุนผู้ใช้ไฟมาโดยตลอด เพราะนอกจากลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ไฟแล้ว ยังชะลอการลงทุนโรงไฟฟ้าออกไประยะหนึ่งและลดการนำเข้าเชื้อเพลิงไฟฟ้า วิธีการประหยัดพลังงานง่ายๆ ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำไปใช้ได้ ประการแรก คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน ที่เห็นชัด คือ เครื่องปรับอากาศ ถ้าปรับอุณหภูมิที่ 20 – 22 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการใช้ไฟที่มากเกินความจำเป็น แต่หากปรับอุณหภูมิที่ 25 – 26 องศาเซลเซียส จะลดการใช้ไฟได้ในปริมาณมาก เนื่องจากเครื่องปรับอากาศเป็นอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานเป็นระยะเวลานาน หากเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น จะลดการใช้ไฟได้โดยอัตโนมัติ ประการที่สอง ตรวจสอบว่าพื้นที่ใดไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ให้ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน จะประหยัดพลังงานโดยไม่ต้องลงทุนใดๆ และอีกวิธีที่เป็นการประหยัดพลังงานที่ได้ผลค่อนข้างชัดเจน คือ การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED ในการให้แสงสว่าง จะประหยัดพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม. – สำนักข่าวไทย