กรุงเทพฯ 14 ม.ค.- กนอ.ลงทุน 1,280 ล้านบาทตั้งนิคมอุตสาหกรรมสะเดา 927 ไร่ รองรับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปลายปีนี้ กนอ.จะเริ่มก่อสร้างและวางระบบโครงสร้างพื้นฐานนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ซึ่งเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน (SEZ) โดยกนอ.จะเปิดให้นักลงทุนเข้าใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจการได้ปลายปี 2562 เป็นต้นไป นิคมฯ แห่งนี้จะเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
นิคมอุตสาหกรรมสะเดา จะมีพื้นที่พัฒนารองรับการลงทุนของเอกชนรวม 927 ไร่ แบ่งเป็นเขตประกอบการทั่วไป 289 ไร่ เขตประกอบการโลจิสติกส์ 119 ไร่ เขตประกอบการเสรี 81 ไร่ เขตพาณิชย์ 48 ไร่ พื้นที่สีเขียว 102 ไร่ และพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 286 ไร่ ภายใต้งบประมาณการลงทุนรวม 1,280 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังมีนักลงทุนแสดงความสนใจในการเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาแล้วจำนวน 7 ราย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจท่องเที่ยว
นอกจากนี้ หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะพัฒนาควบคู่กันไป ได้แก่ ด้านคมนาคมขนส่ง กรมทางหลวงชนบทกำลังเร่งก่อสร้างถนนสาย สงขลา 1027 – ปาดังเบซาร์ เพื่อช่วยแบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4 ปาดังเบซาร์และด่านสะเดา และยังมีอีก 3 โครงการที่อยู่ระหว่างการออกแบบ คือ ทางหลวงหมายเลข 4 – ด่านสะเดา แห่งที่ 2 มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย และรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่
ขณะที่กรมศุลกากรและระบบการผ่านแดน อยู่ระหว่างก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2562 และมีการปรับปรุงด่านปาดังเบซาร์พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การเพิ่ม 3 ด่านศุลกากร ได้แก่ ด่านอาหารและยา ด่านสินค้าเกษตร และด่านตรวจสัตว์ ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลกำหนด จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุน เพื่อพิจารณาตัดสินใจลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมสะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาต่อไป
นายวีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นิคมอุตสาหกรรมสะเดาจะรองรับการลงทุนของ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกนอ.มั่นใจว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบจากจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นทั้งศูนย์กลางทางการค้าและการท่องเที่ยว การมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการผลิตทางอุตสาหกรรม ตลอดจนพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT – GT) และ การพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณแนวพื้นที่ภาคเหนือของมาเลเซีย (NCER) จะเป็นปัจจัยที่ดีที่จะช่วยสร้างโอกาสในการดึงดูดการค้าและการลงทุน พร้อมทั้งพัฒนาไปสู่การเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจระดับสากลร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้-สำนักข่าวไทย