สำนักงานกกต. 20 ธ.ค.-สมชัยชี้วิธีที่ง่ายที่สุดคือการปลดล็อกขยายเวลาให้พรรคการเมืองปฎิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ดีกว่าใช้ม.44 เชื่อรัฐบาลไม่เร่งประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเพื่อให้พรรคเตรียมพร้อม
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ขยายเวลาการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ยังไม่เห็นคำสั่งชัดเจน แต่ถ้าปลดล็อกเพื่อให้ผู้ประสงค์จะตั้งพรรคการเมืองใหม่มาจองชื่อ และหาสมาชิกให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนปลดล็อกทั้งหมดในช่วงที่จะเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคการเมืองเดิม ทุกฝ่ายที่ประสงค์จะเข้าสู่การเลือกตั้งต้องเตรียมตัวให้พร้อม
“แต่การที่คสช.ระบุว่าจะขยายหรืออาจงดเว้นการดำเนินการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในบางเรื่อง ถ้าหมายถึงการปฏิบัติตามมาตรา 141 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองก็เห็นว่าไม่เป็นผลดี เนื่องจากหลักคิดในการยกร่างฯ มาตรานี้เพื่อปฏิรูปพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ปราศจากนายทุน เป็นพรรคของประชาชน ซึ่งเป็นการออกแบบที่ดีแล้ว และควรเดินหน้าตามนั้น วิธีการที่ง่ายที่สุดคือควรปลดล็อกมากกว่า” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า การปลดล็อกบางส่วนของคสช.จะมีผลต่อการเตรียมการของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งจะเริ่มนับเมื่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้แล้ว โดยจะต้องเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หากพิจารณาจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศต่อสื่อและชาวโลกว่าจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน2561 ซึ่งการพิจารณากฎหมายของสนช. หากแล้วเสร็จและไม่มีององค์กรใดคัดค้าน คาดว่ากฎหมายจะประกาศใช้เร็วที่สุดคือเดือนเมษายน 2561และเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2561
“แต่ถ้ามีการโต้แย้ง การประกาศใช้กฎหมายจะล่าช้าออกไป และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนตามที่นายกฯ ระบุ ดังนั้น พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งใหม่ ซึ่งจะต้องมาเริ่มกระบวนการทุกอย่างหลังจดทะเบียนพรรคแล้วพร้อมกับพรรคการเมืองเก่าในช่วงเวลาหลังกฎหมายลูก 4 ฉบับใช้บังคับ การดำเนินการของพรรคการเมืองจะทำทันหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะประกาศให้มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งเมื่อใด เพราะตามกฎหมายรัฐบาลจะประกาศช่วงใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำทันทีที่ระยะเวลา 150 วันเริ่มนับ” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ปัญหาคือหลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 5 วัน จากนั้นกกต.ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและต้องประกาศวันรับสมัครเลือกตั้งภายใน 25 วัน หลังมีพระราชกฤาฎีกาเลือกตั้ง จึงเท่ากับเมื่อรถไฟขบวนแรกออกเมื่อใด ขบวนที่ 2 ขบวนที่ 3 ต้องออกตามทันที คำถามถือระยะเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองใหม่-เก่า จะสามารถดำเนินการจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค จัดตั้งสาชาพรรค ตัวแทนประจำจังหวัด จัดทำไพรมารีโหวต เพื่อให้แล้วเสร็จ เพื่อจะเดินมาสมัครใน 5 วันดังกล่าวได้หรือไม่
“ผมคิดว่ารัฐบาลจะไม่รับประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง โดยอาจจะประกาศหลังจากที่กฎหมายลูกมีผลใช้บังคับแล้ว 2 เดือน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมตัว กกต.เองจะมีเวลาประมาณ 90 วัน ถือว่าเพียงพอ จึงอยากฝากทั้งพรรคใหม่และเก่าหากปลดล็อกแล้วทุกพรรคจะมีเวลาไม่เยอะ อาจเพียง 2 เดือน จึงต้องเตรียมการให้พร้อม เพราะนี่เป็นโจทย์ใหญ่” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า กกต.ได้รับหนังเชิญเลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสนช. เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง และว่า “ผมเสียดายที่ไม่ได้รับเชิญ ทั้งที่อยากไปร่วมแสดงความคิดเห็น.-สำนักข่าวไทย
