กรุงเทพฯ 13 ต.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรมระดมเก็บตัวอย่างน้ำทุกโรงงานที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่คลี่คลายปัญหา ล่าสุดพบค่าน้ำโรงงานเอทานอล จังหวัดราชบุรี เกินกว่ามาตรฐานกฎหมาย
นางนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงเกิดเหตุการณ์ปลากระเบนตายในแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม โดยหาสาเหตุไม่ได้ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งแก้ไขให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรงงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี (สอจ.ราชบุรี) ลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำของโรงงานเอทานอล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ล่าสุดวันนี้ (13 ต.ค.) ผลการเก็บตัวอย่างน้ำออกมาแล้วพบว่าค่าน้ำเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ค่า BOD. และ COD. เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ทำให้ออกซิเจนในน้ำต่ำ ซึ่งเป็นเหตุทำให้น้ำเสีย สอจ.ราชบุรี จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน และได้มีการออกหนังสือแจ้งถึงผู้ประกอบการรายดังกล่าวให้รับทราบข้อกล่าวหาว่ามีความผิดต้องดำเนินการทางอาญาฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ โดยขณะนี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ผู้บริหารกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนข้อมูลและวิชาการ และนายสุรพล ชามาตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่อยู่ในพื้นที่พร้อมอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับส่วนราชการในพื้นที่
นางนิสากร กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคมนี้ ในจังหวัดราชบุรีได้จัดส่งชุดเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจโรงงานเป้าหมายที่มีการระบายน้ำทิ้งมาก 4 โรง และวันพรุ่งนี้ (14 ต.ค.) จะตรวจโรงงานขนาดเล็กทั้งหมดที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลองประมาณ 14-15 โรง โดยตรวจสอบร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ซึ่งผลของน้ำจะออกทยอยออกมาภายใน 10-12 วัน ส่วนจังหวัดสมุทรสงครามตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งของโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำแม่กลอง 8 โรงงาน เพื่อนำไปวิเคราะห์ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีโรงงานใดที่มีการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งผลคุณภาพของน้ำจะรายงานวันที่ 17 ตุลาคมนี้ หากพบโรงงานใดมีค่าน้ำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะสั่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ.ตรวจวัดตลอดลำน้ำแม่กลอง ทุก 2 เดือน ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) อยู่ในช่วง 2.2- 6.9 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งลดลงจากเดือนสิงหาคม โดยบริเวณที่ปลาตายวัดค่า DO ได้ 2.8 และ 4.1 มก.ต่อลิตร อำเภอบางคณฑีและอำเภออัมพวา และไม่พบค่าของโลหะหนัก อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดขึ้นในแม่น้ำแม่กลอง กรอ.จะสนับสนุนงานเชิงวิชาการอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสาเหตุฯ ซึ่งผลจะเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป.-สำนักข่าวไทย