กรุงเทพฯ 27 พ.ย. – นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าห้างหุ้นส่วน เอส อาร์ ไอ เมททัล โปรดักส์ ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการโรงงานหลอมโลหะ ตั้งอยู่ที่ตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียง โดยประชาชนที่อาศัยบริเวณดังกล่าวแจ้งว่าทางโรงงานเตรียมที่จะเสียค่าปรับให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วก็สามารถประกอบกิจการได้ตามปกตินั้น ขอชี้แจงว่าการกำกับดูแลสถานประกอบการของกระทรวงอุตสาหกรรมมี พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการกำกับดูแล โดยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนดำเนินการ 2 มาตรการ หากผู้ประกอบการโรงงานกระทำผิดพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการทั้งทางอาญาและทางปกครอง ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรีดำเนินการทั้ง 2 กรณีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องมาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย
นางสาวนิสากร กล่าวว่า น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าถ้าผู้ประกอบกิจการโรงงานสารภาพและยินยอมให้เปรียบเทียบปรับแล้วคดีจะจบสิ้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะขั้นตอนของการดำเนินการคดีอาญาที่มีความผิดทั้งปรับและจำคุกขึ้นอยู่กับฐานความผิด ซึ่งการจะปรับหรือไม่เป็นอำนาจของคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีที่จะพิจารณา ถ้าเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรถูกฟ้องหรือได้รับโทษจำคุกคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีก็จะเปรียบเทียบปรับ โดยโทษปรับอาจเพิ่มขึ้นหากมีการทำผิดเป็นครั้งที่ 2 และเป็นความผิดซ้ำซากคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีอาจไม่เปรียบเทียบปรับให้โดยส่งเรื่องกลับไปยังจังหวัดที่เป็นเจ้าของเรื่อง เพื่อส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีและส่งฟ้องศาลต่อไป สำหรับการดำเนินการทางปกครองจะควบคู่ไปกับการดำเนินคดีทางอาญา โดยผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งดังกล่าวจะนำไปสู่การสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงานหรือสั่งปิดโรงงานตามลำดับ
ส่วนกรณีห้างหุ้นส่วน เอส อาร์ ไอ เมททัล โปรดักส์ ในจังหวัดสุพรรณบุรี พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ให้ปรับปรุงแก้ไขระบบจัดการฝุ่นละออง เขม่าควัน และกลิ่นแล้ว นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่าโรงงานแห่งนี้ได้มีการขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตขยายโรงงานตามมาตรา 18 ซึ่งมีบทกำหนดโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้ส่งเรื่องดำเนินคดีทางอาญากับโรงงานรายนี้มาให้คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีดำเนินการเปรียบเทียบปรับและได้มีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนแล้ว
“ยืนยันว่าการดำเนินการใด ๆ ของกระทรวงฯ จะยืดถือตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งบทลงโทษก็แตกต่างกันตามแต่ฐานความผิดที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้” โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว.-สำนักข่าวไทย