ศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ 23 พ.ย. – กฟผ. จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านเหมืองแร่ครั้งใหญ่ โชว์ศักยภาพนวัตกรรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินของไทยสู่ระดับสากล พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิชาการทั่วโลก
นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการทำเหมืองถ่านหินและการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Coal Mining and Utilization for Sustainable Development International Conference (CM&USD 2017) โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการ นักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ตลอดจนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ของไทยและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อินเดียและเยอรมนี เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ณ อาคารสมานฉันท์ธัชชวาล ศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
นายถาวร เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ของประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาจากทั่วโลกร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและการพัฒนาเทคโนโลยีการทำเหมืองในปัจจุบัน
รองผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานประชุม CM&USD 2017 นับเป็นการสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง กฟผ. กับสถาบันการศึกษา นักวิชาการ ตลอดจนนักวิจัยด้านการทำเหมืองถ่านหินจากทั่วโลก อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ตลอดจนการใส่ใจดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบอย่างยั่งยืน
สำหรับหัวข้อการสัมมนาด้านการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากการทำเหมืองถ่านหิน รวมถึงการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ การทำเหมืองถ่านหินภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 พลังงานหมุนเวียนจะสามารถแทนที่พลังงานจากถ่านหินทั้งหมดในอุตสาหกรรมโลกได้หรือไม่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด หรือเทคโนโลยี HELE ความท้าทายของการเริ่มต้นการวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือระหว่างประเทศของการทำเหมืองถ่านหินในประเทศอินเดีย และความสำคัญ ความท้าทายและแนวทางการแก้ไขปัญหาในการปิดเหมือง
ทั้งนี้ ภายในงาน กฟผ. ได้แสดงผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นและได้รับรางวัล อาทิ แผงประกอบอุปกรณ์พิเศษหม้อน้ำแรงดันสูง ด้วยระบบสูบน้ำแบบอนุกรมต่างระดับอัตโนมัติ 3-STAGE ซึ่งสามารถสูบน้ำออกจากบ่อเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอุปกรณ์เคลียร์ถ่านติดสะสมที่ช่วยแก้ปัญหาถ่านติดสะสมที่อาคาร สามารถเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน และส่งถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ทันเวลา อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการกว่า 54 เรื่อง จากนักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำของโลก และพนักงาน กฟผ. แบ่งหัวข้อเป็น 8 ประเภท ได้แก่ การเจาะระเบิด การวางแผนระบบการทำงานเหมือง ธรณีเทคนิคในการทำเหมือง สิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองและมาตรการการติดตาม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำเหมือง การฟื้นฟูสภาพเหมืองและการวางแผนการปิดเหมือง การปรับปรุงคุณภาพถ่านและการนำไปใช้ และมุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคมในการทำเหมือง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเหมืองแม่เมาะ กฟผ.ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทการทำเหมืองเปิดที่มีแนวทางปฏิบัติเป็นเลิศ หรือ Best Practice for Surface Coal Mining Category จากเวที ASEAN Coal Awards 2017 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี การนำถ่านหินมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ.-สำนักข่าวไทย