กาฬสินธุ์ 20 พ.ย. – “เกษตรสร้างชาติ” วันนี้ พาไปพบอดีตวิศวกรที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร เพราะอยากกลับบ้านเกิดเพื่อดูแลพ่อแม่ จากนั้นได้ลองเพาะเห็ดโคนน้อยกินในครัวเรือน เมื่อมีผลผลิตมาก จึงเริ่มเพาะขาย กลายเป็นอาชีพหลัก
ปรเมศวร์ ศรีชัยเชิด วัย 37 ปี อดีตวิศวกร หันหลังให้เมืองกรุง หลังเป็นมนุษย์เงินเดือนมากว่า 13 ปี มีเงินเลี้ยงตัว แต่ไม่มีเงินเก็บ พ่อแม่ก็แก่เฒ่าไม่มีคนดูแล จึงเดินทางกลับบ้านเกิดใน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ โดยใช้พื้นที่ 2 ไร่ หลังบ้านสร้างเป็น “ฟาร์มเห็ดโคนน้อย” ที่เริ่มจากการเพาะเห็ดโคนน้อยไว้กินเอง แต่เห็ดให้ผลผลิตมากจนเหลือกิน จึงนำไปขาย
โรงเรือนสร้างแบบง่าย ขนาด 1.20 x 5 เมตร ใช้ไม้ไผ่ที่หาได้จากชุมชนสร้างเป็นชั้น ไม่มีหลังคา ใช้ผ้ายางสีดำคลุมโรงเรือน การเพาะเห็ดโคนน้อย เริ่มจากเตรียมฟางที่ต้องนำไปต้ม จากนั้นนำฟางมามัดรวมกันเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 12 นิ้ว ยาว 18 นิ้ว หนา 8 นิ้ว นำเชื้อเห็ดที่ผสมแล้วมาโรยผสมในฟางเป็นชั้นๆ แล้วนำไปวางในโรงเรือน คลุมด้วยผ้ายางสีดำเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นจะมีเยื่อสีขาวกระจายอยู่รอบก้อนฟาง ให้ใช้น้ำฉีดล้างจนเยื่อหลุด แล้วใช้ผ้ายางสีดำคลุมต่ออีก 3-5 วัน และหมั่นสังเกตการเติบโต เมื่อมีดอกเห็ดให้รีบเก็บช่วงดอกตูม หากทิ้งไว้ ดอกเห็ดจะบานและดำ ส่งผลต่อดอกเห็ดในรุ่นต่อไป
เห็ดโคนน้อยราคาดี กิโลกรัมละ 140-200 บาท ซึ่งปรเมศวร์เพิ่มมูลค่าด้วยการจำหน่าย “ตะกร้าเห็ดโคนน้อยพอเพียง” บนโลกโซเชียล ลูกค้าจะนำไปเพาะรอเก็บผลผลิตเอง สามารถเก็บเห็ดกินเองได้ราว 15-20 วัน หรือได้เห็ดราว 2 กิโลกรัม. – สำนักข่าวไทย