รัฐสภา 15 พ.ย.- ประธานกรธ. ยืนยันว่าร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่ให้เปิดเผยทรัพย์สินโดยสรุป ไม่ถือเป็นการริดรอนสิทธิการรับรู้ของประชาชน เพียงแต่เป็นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของนักการเมือง มั่นใจทำร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.เสร็จทันตามกำหนดส่งสนช.ได้ 28 พ.ย.
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีความกังวลร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ให้เปิดเผยทรัพย์สินหนี้สินนักการเมืองโดยสรุป ถือเป็นการปิดบังการรับรู้ข้อมูลของประชาชน ว่า นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงยังต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามปกติ แต่การที่ระบุในร่างกฎหมายให้เปิดเผยทรัพย์สินหนี้สินโดยสรุป เพื่อปกป้องข้อมูลรายละเอียดส่วนบุคคล ไม่ถือเป็นการริดรอนสิทธิอะไรของประชาชน เพราะอะไรที่ประชาชนพึงรู้ จะต้องได้รู้ และป.ป.ช.จะต้องไปออกระเบียบอีกครั้ง
“ยังคงให้เปิดเผย แต่อย่าเปิดเผยไปจนกระทั่งเจ้าตัวเขาเดือดร้อน เช่นเอาเลขบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนรถ ไปเปิดหมด และเปิดอยู่อย่างนั้น และคนที่คิดร้ายก็เอาข้อมูลเหล่านี้ไปเล่นงานเขา ขู่เขาบ้าง อะไรบ้าง บางทีคนทุจริตเอาเลขบัตรประจำตัวไปทำอะไร เราจึงบอกให้สรุป และป.ป.ช.ก็มีตัวจริงอยู่แล้ว” นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ว่า ขณะนี้ได้ยกร่าง ๆ แรกเสร็จแล้ว แต่จะต้องนำข้อเสนอแนะของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและนำทั้งสองร่างมาพิจารณาประกอบกัน และปรับแก้ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำเสร็จได้ทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 27 พ.ย.และส่งให้สนช.พร้อมกัน 2 ฉบับได้ในวันที่ 28 พ.ย.
ส่วนที่พรรคการเมืองยังคงเรียกร้องให้ผ่อนคลายคำสั่ง คสช. หรือปลดล็อคทางการเมือง เพราะเกรงจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบเวลาของกฎหมายพรรคการเมืองไม่ทันนั้น นายมีชัย กล่าวว่า หากพรรคการเมืองดำเนินการไม่ทัน ก็สามารถแจ้งไปยังกกต. และกกต.จะต้องส่งเรื่องให้รัฐบาลแก้พรป.พรรคการเมืองในเรื่องกรอบเวลาได้ แต่ไม่เห็นด้วยหากจะออกเป็นคำสั่งคสช.หรือใช้มาตรา 44 เพราะไม่เหมาะสม.-สำนักข่าวไทย