เวียดนาม 11 พ.ย.- การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเสร็จสิ้นแล้ว โดยนายกฯ ได้เสนอ 3 มุมมองของไทย ที่เอเปคควรให้ความสำคัญและดำเนินการต่อเนื่อง ขณะที่ วิสัยทัศน์เอเปค หลังปี 2020 ควรเน้นส่งเสริมการค้าเสรีและธรรมาภิบาลโลกที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่มีคุณภาพและครอบคลุม
“พัทธนันท์ สงชัย” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2560 รายงานว่า เวลา 13.45 น. วันนี้ (11 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับประเทศไทย นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “พลังขับเคลื่อนใหม่ทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงในภูมิภาค” (New Drivers for Regional Trade, Investment and Connectivity) ณ ห้องประชุมผู้นำเอเปค โรงแรมคอนติเนนตัล ดานัง รีสอร์ท
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอมุมมองของไทยใน 3 ประเด็น ที่เอเปคควรให้ความสำคัญ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาแรงผลักดันของเอเปคในเวทีระหว่างประเทศในห้วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ คือ ปฏิรูปโครงสร้างภายใน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้ จึงมีนโยบายประเทศไทย 4.0
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านในทุกมิติ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม และยั่งยืน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ไทยจึงได้เตรียมความพร้อมในด้านความเชื่อมโยงทางดิจิทัล โดยได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ ด้วยการขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านทั่วประเทศในปีนี้ พร้อมลงทุนสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบ Asia-Africa-Euroupe-1 (AAE-1) ความยาว 25,000 กิโลเมตร เพื่อพัฒนาโครงข่ายระหว่างประเทศเชื่อมไทยสู่ทั่วโลก
“ไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ในการต่อยอดโครงการบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card หรือ ABTC) โดยพัฒนาบัตรในลักษณะเดียวกันให้แก่กลุ่มนักศึกษาและนักวิจัย ซึ่งสอดรับกับแผนแม่บทความเชื่อมโยงในเอเปค (APEC Connectivity Blueprint 2015-2025) ที่มุ่งให้เกิดการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างแท้จริงในปี 2568 (ค.ศ. 2025)” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการปกป้องทางการค้า และการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ไทยเห็นว่า เอเปคควรแสดงบทบาทนำ ในการเรียกความเชื่อมั่นต่อระบอบการค้าเสรี สื่อสารผลประโยชน์ของการค้าเสรีให้แก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นสิ่งท้าทายของภูมิภาค และไทยหวังจะเห็นความคืบหน้าในการเจรจาการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 11 และยินดีที่ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกมีผลบังคับใช้
นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดี ที่บรรดาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล และได้เริ่มคิดวางแผนแนวทางกำหนดวิสัยทัศน์เอเปค หลังปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งไทยเห็นว่าควรเน้นการส่งเสริมการค้าเสรีและธรรมาภิบาลโลกที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่มีคุณภาพและครอบคลุม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในภูมิภาคและโลกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยก่อนพิธีปิดอย่างเป็นทางการ ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาผู้นำเอเปค 4 ฉบับ ว่าด้วยการส่งเสริมความก้าวหน้าในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือในการพัฒนาคน ส่งเสริมเอสเอ็มอี และส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม
จากนั้น วันพรุ่งนี้ (12 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ต่อไป .- สำนักข่าวไทย