กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – ก.พลังงาน สานต่อแนวทางพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย ด้าน กฟผ.ยกเลิกจัดงานแม่เมาะเฟสติวัล 2-4 พ.ย. พร้อมดูแลความมั่นคงไฟฟ้าเต็มพิกัด
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์อัน กว้างไกลด้านพลังงานทดแทนของพระองค์ เป็นที่ประจักษ์ ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างกว้าง ขวางสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิง อีกทั้งยังช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปรียบพระองค์ท่านได้ดั่ง ‘องค์พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย’และทางกระทรวงฯสานต่อ โดยจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ชัดเจน ซึ่งเฉพาะในส่วนของการดำเนินโครงการไบโอดีเซลและเอทานอลก็สามารถลดการนำเข้าน้ำมันเป็นวงเงินถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อไป ยอดใช้ ขณะนี้ บี 100 และ เอทานอล สูงถึงประเภทละประมาณ 4 ล้านลิตร/วัน ซึ่งนอกจากจะทดแทนการนำเข้าพลังงานแล้วยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
“พระองค์ท่านริเริ่มพลังงานทดแทนมากมาย มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขาดเล็กที่ช่วยให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ เด็กเด็กมีไฟอ่านหนังสือ และหลายแห่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ เช่น แม่กำปอง จ.เชียงใหม่ และยังพระราชทานตัวอย่างที่มีผลการศึกษา เช่นโครงการส่วนพระองค์ในสวนจิตรลดา ที่มีพลังงานทดแทนหลากหลาย ในส่วนของไบโอดีเซล เอทานอล ทรงริเริ่มตั้งแต่ปี 2528 และกระทรวงพลังงานได้น้อมนำมาส่งเสริมจนเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน”นายประพนธ์กล่าว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. กล่าว ภายหลังจัดพิธีถวายอาลัย ซึ่งมีการยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 9 นาที ด้วยว่า ชาว กฟผ.น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น เรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังน้ำ หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง โดย กฟผ.ทำโครงการชีววิถี ทำให้ผู้อยู่รอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าสามารถพึ่งพาตนเองและลดค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ยังได้ทำโครงการสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งพระองค์ท่านทรงริเริ่มตั้งแต่ปี 2503 โดยมีพระราชดำริในการดำเนินการรวบรวมรักษาพันธ์พืชต่างๆที่หายากและกำลังจะหมดไป
“พระองค์ท่านมีสายพระเนตรยาวไหลทรงเล็งเห็นว่าน้ำและไฟเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ท่านทรงมีพระราชดำรัสว่าควรมีเขื่อนและ เขื่อนยันฮีไ้ด้ก่อสร้างซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่า”เขื่อนภูมิพล”ในปี 2500 และทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนในวันที 17 พ.ค.2507 และหลายครั้งที่ พระองค์ทรงงานในต่างจังหวัด พนักงาน กฟผ.ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทในหลายพื้นที่ คน กฟผ.จึงผูกพัน จงรักภักดี และเศร้าเสียใจ เช่นเดียวกับคนไทยทุกคน” ผู้ว่า กฟผ.กล่าว
นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า กฟผ.ได้งดงานรื่นเริงต่างๆ โดยเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ 2-4 พ.ย.59 ก็ได้ยกเลิกการจัดงาน แต่ ก็จะชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่มีสัญญาผูกพัน เช่น ศิลปิน นักร้องต่างๆ ส่วนงานประชุมใหญ่เชิงวิชาการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ครั้งที่ 21 (CEPSI 2016) ระหว่างวันที่ 23 – 27 ตุลาคม 2559 ยังมีเช่นเดิมเพราะเป็นงานจัดประชุมนานาชาติแต่มีการปรับกิจกรรม ไม่มีงานรื่นแรง และพาผู้เข้าร่วมประชุมร่วมถวายอาลัย ส่วนการลงทุนโครงการต่างก็ยังเดินหน้าเหมือนเดิม
“ในส่วนตัวได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้โดยตลอด แต่ก็ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม โดยเดิมใช้โทรศัพท์ โนเกีย แต่เมื่อต้องใช้เทคโนโลยีรองรับการประสานงานก็ต้องเปลี่ยนตาม หน่วยงาน และเดิมตัวเองไม่รีดผ้า แต่ก็ต้องมาใส่เสื้อที่รีด หลังเป็นผู้บริหาร แต่กางเกงก็ไม่รีดเช่นเดิม” ผู้ว่า กฟผ.กล่าว -สำนักข่าวไทย