กรุงเทพฯ 8 ต.ค. – กกพ.เดินหน้าเปิดเสรีนำเข้า-จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ล่าสุดมีผู้ให้บริการท่อจำหน่ายแล้ว 4 ราย ส่วน Shipper หรือจัดหาและค้าส่งแอลเอ็นจีมี 2 ราย คือ ปตท.- กฟผ. ส่วนกัลฟ์พลาดหวัง ย้ำเปิดรอบใหม่หลังสถานี “หนองแฟบ”เสร็จ โดย ปตท.ไม่ได้รับสิทธิ์พิเศษต้องเป็นผู้แข่งขันนำเข้าเหมือนชิปเปอร์รายอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ บมจ.ปตท.ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์น ซีบอร์ด 2 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กับบริษัท ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด เอ็นจีดี 2 จำกัด ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจตามนโยบายการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติของภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการจัดหาพลังงานให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติตามระบบท่อจำหน่าย หรือท่อย่อยที่ทางดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด เอ็นจีดี 2 ซื้อก๊าซฯ จากท่อหลักของ ปตท.แล้วสร้างท่อย่อยรับก๊าซไปจำหน่ายแก่ลูกค้าในนิคมฯ นับเป็นรายที่ 4 ของประเทศ ต่อเนื่องจากผู้ให้บริการก่อนหน้านี้ คือ ปตท.และบริษัทร่วมทุนอีก 2 ราย คือ บริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด หรือ PTTNGD และบริษัท อมตะ จัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด หรือ AMATA NGD
ส่วนการที่ กกพ.เปิดให้เอกชนรายอื่นนอกเหนือจาก บมจ.ปตท. ยื่นเสนอเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตันในส่วนของคลัง บมจ.ปตท.ระยะที่ 1 ส่วนขยายจาก 10 ล้านตันต่อปีเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งทางกลุ่มกัลฟ์และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ยื่นเสนอขอเป็น Shipper พบว่า กฟผ.ผ่านคุณสมบัติ แต่กัลฟ์ไม่ผ่าน เนื่องจากข้อกำหนดสำคัญ คือ จะต้องมีลูกค้าหรือผู้ใช้ก๊าซฯ อยู่แล้ว โดยไม่เกี่ยวข้องหรือไปยกเลิกสัญญาเดิมที่ทำไว้กับ ปตท. โดยกรณี กฟผ.นำเข้าเพื่อนำไปใช้เองกับโรงไฟฟ้าของตนเองประกอบกับเป็นช่วงหมดสัญญาซื้อขายก๊าซกับ ปตท.แล้ว แต่ในส่วนของกัลฟ์ยังไม่มีลูกค้า และขอให้รัฐบาลช่วยเจรจายกเลิกสัญญากับ ปตท. ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการไม่ได้ ดังนั้น ทาง กกพ.จึงได้ทำหนังสือเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแจ้งกัลฟ์ว่าไม่สามารถอนุมัติใบประกอบการเป็น Shipper โดยมอบให้เพียงรายเดียว คือ กฟผ.
ส่วนการเปิดยื่นข้อเสนอเป็น Shipper นำเข้าแอลเอ็นจีรอบต่อไปนั้น นายวีระพล กล่าวว่า ต้องรอการก่อสร้างสถานีนำเข้าแอลเอ็นจีแห่งที่ 2 หรือสถานีหนองแฟบของ ปตท. แล้วเสร็จ ปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี โดยจะเปิดให้แข่งขันจอง ซึ่ง ปตท.ก็ต้องเข้ามาแข่งขันนำเข้าเช่นกัน เพราะเปรียบเสมือนเป็นผู้นำเข้าทั่วไป
นายวีรพล กล่าวว่า ปี 2561 แนวโน้มพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปผลิตเองใช้เองคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นอีกต่อเนื่อง เพราะเริ่มคุ้มต้นทุนการผลิต โดยได้รับแจ้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ SPP ในภาคตะวันออกว่าขายไฟลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โรงงานบางส่วนเริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์การผลิตยังอยู่หลัก 1,000 เมกะวัตต์แต่หากหลัก 10,000 เมกะวัตต์จะเป็นปัญหามาก เพราะช่วงฝนตก กฟผ.ต้องมีสำรองเครื่องไว้เพื่อผลิตทดแทน ดังนั้น กกพ.จึงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางรองรับผลกระทบกับระบบสำรองไฟฟ้าของประเทศ เพราะหากพลังงานทดแทนภาพรวมเข้ามาในระดับ 10,000 เมกะวัตต์จะกระทบต่อระบบสำรองทันที โดยมาตรการหนึ่งที่ศึกษา คือ การเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (Backup Rate)ที่คาดว่าจะเก็บกับผู้ผลิตรายใหญ่เป็นหลัก.-สำนักข่าวไทย