กรุงเทพฯ 28 ม.ค. – ตม.1 จับชาวเวียดนาม ลักลอบปลูกกัญชาโดยไม่รับอนุญาต ยึดของกลางดอกกัญชา และต้นกัญชา 929 ต้น
พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 พร้อมด้วย พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ตำรวจกองกำกับการสืบสวนกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 นางสาวอรอนงค์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และตำรวจ สน.ประชาชื่น นำหมายค้นของศาลอาญาที่ 35/2568 เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ภายในซอยงามวงศ์วาน 32 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ หลังมีผู้แจ้งเบาะแสว่าสถานที่ดังกล่าวได้ลักลอบปลูกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดดอกกัญชา 1 ถุง และต้นกัญชารวม 929 ต้น
โดยอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวมีขนาด 3 คูหา จำนวน 4 ชั้น พบว่าที่บริเวณชั้น 1 ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่เก็บปุ๋ยและห้องพักของคนงาน สามารถนอนได้อย่างน้อย 6-7 คน ส่วนชั้น 2 ของอาคารพาณิชย์ พบว่ามีการดัดแปลงให้เป็นห้องที่มีสภาพสำหรับเพาะปลูก มีการติดตั้งอุปกรณ์เพาะปลูก อุปกรณ์สำหรับปรับสภาพอากาศ ติดแอร์กับพัดลม และให้น้ำให้แสง โดยที่ชั้น 2 นี้ พบต้นกัญชาโตเต็มวัยอยู่ภายในห้องประมาณ 108 ต้น พบต้นกัญชาขนาดเล็กที่อยู่ในระหว่างการเพาะชำอีก 136 ต้น รวมทั้งต้นกัญชาเพิ่งแตกยอดอ่อนและเมล็ดสำหรับเตรียมงอกอีกประมาณ 455 ต้น รวมทั้งพบถุงดอกกัญชาแปรรูปอบแห้งจำนวน 1 ถุง
ส่วนบริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าว พบการดัดแปลงลักษณะคล้ายคลึงกัน คือติดตั้งระบบอุปกรณ์สำหรับเพาะปลูก โดยเฉพาะติดตั้งแอร์ พัดลม เครื่องให้น้ำให้แสง ปรับสภาพอากาศเต็มที่ ซึ่งที่ชั้น 3 พบต้นกัญชาโตเต็มวัย จำนวน 128 ต้น และชั้น 4 พบต้นกัญชาโตเต็มวัยพร้อมออกดอก จำนวน 134 ต้น อย่างไรก็ตาม ตรวจสอบไม่พบว่าอาคารหลังดังกล่าวขอใบอนุญาตปลูกกัญชาถูกต้องตามกฎหมายกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างใด
นอกจากนี้ จากการเข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว พบแรงงานชาวเวียดนามเข้าเมืองถูกกฎหมาย 1 ราย อายุ 49 ปี แต่ไม่ได้ขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักรแต่อย่างใด จึงได้ดำเนินการแจ้งข้อหาทำงานในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า (กัญชา) โดยไม่รับอนุญาต
จากการสอบปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหายังไม่ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี อ้างว่ามาทำงานที่อาคารหลังดังกล่าวได้ 3 เดือน ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน แต่เนื่องจากเพื่อนที่เหลือได้กลับบ้านไปก่อน เพราะอยู่ในช่วงเทศกาล เลยเหลือตัวเองอยู่คนเดียว ผู้ต้องหายังไม่ให้การเกี่ยวกับเรื่องของการปลูกกัญชา อ้างว่ามีหน้าที่เพียงแค่ดูแลต้นกัญชา ซึ่งหลังจากนี้ทางตำรวจจะสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมว่า กัญชาที่พบนั้นใครเป็นเจ้าของและมีการส่งออกไปขายที่ใด รวมทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศหรือไม่
น.ส.อรอนงค์ เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมตรวจสอบกับทางตำรวจพบว่า ผู้ครอบครองอาคารหลังดังกล่าวเป็นนิติบุคคล ซึ่งได้จดทะเบียนใบอนุญาตจัดจำหน่ายแปรรูปกัญชาที่ จ.กาญจนบุรี แต่ไม่ได้จดทะเบียนจัดจำหน่ายแปรรูปกัญชาในพื้นที่กรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ดังนั้น อาคารพาณิชย์แหล่งดังกล่าวจึงปลูกกัญชาและแปรรูปดอกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนป้ายภายในอาคารที่ระบุว่าเป็นสถานที่แปรรูปกัญชาจึงเป็นป้ายที่ติดเพื่อสมอ้าง ส่วนใบอนุญาตของ อย. ที่พบในอาคารนั้น เป็นเพียงใบจดแจ้งว่ามีการปลูกกัญชากี่ต้นในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ออก แต่ไม่ใช่ใบขออนุญาตแต่อย่างใด
น.ส.อรอนงค์ เปิดเผยว่า ปกติแล้วการปลูกกัญชาที่ให้ผลดอกเพื่อนำมาแปรรูป จะต้องจดทะเบียนขออนุญาตกับทางราชการ โดยในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องไปจดทะเบียนที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องไปจดทะเบียนที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งใบอนุญาตจะใช้ได้เฉพาะแต่ละพื้นที่และเฉพาะสถานที่เท่านั้น ไม่สามารถมาใช้รวมกันในหลายๆ ที่ได้ โดยใบอนุญาตจะมี 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทจัดจำหน่ายและแปรรูป ประเภทส่งออก และประเภทวิจัย
สำหรับกรณีดังกล่าวนั้น ตัวนิติบุคคลผู้ครอบครองอาคารรวมทั้งแรงงานจะถูกดำเนินคดีฐานไม่มีใบอนุญาตแปรรูปและจัดจำหน่ายสำหรับการปลูกกัญชาที่มีพืชดอก โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการส่งออกกัญชาแปรรูปไปยังต่างประเทศ ก็จะมีความผิดเพิ่มขึ้นอีก ส่วนของกลางนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะดำเนินการยึดอายัดเอาไว้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการที่คิดจะเพาะปลูกกัญชา โดยเฉพาะต้องการดอกกัญชามาใช้แปรรูปกับจัดจำหน่าย ต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานราชการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีค่าธรรมเนียมที่ไม่แพง รวมทั้งเป็นการควบคุมให้กัญชาที่เพาะปลูกขึ้นมานั้นจัดจำหน่ายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการลักลอบจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนจนกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป. -419 -สำนักข่าวไทย