26 ม.ค. – ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา วชิรสถิต และ วชิรธำรง ถนนเจริญกรุง
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 เวลา 17.13 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตลอดจนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน แสดงถึงความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวทิตาของราษฎรที่ได้รับพระเมตตาบารมีปกเกล้าให้มีความร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังจะเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่สำคัญของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อความเจริญของเศรษฐกิจและสังคม
ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ประกอบด้วยซุ้มประตู “วชิรสถิต 72 พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต เป็นส่วนหัวของมังกร และซุ้มประตู “วชิรธำรง 72 พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี เป็นส่วนหางของมังกร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้ายอยู่หัว ได้พระราชทานเงินทุนประเดิมแก่คณะกรรมการสำหรับจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมพระราชทานชื่อว่าซุ้มประตู “วชิรสถิต 72 พรรษา” มีความหมายว่า ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญยั่งยืน 72 พรรษา และซุ้มประตู “วชิรธำรง 72 พรรษา” มีความหมายว่า ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์จารึกการเทิดทูนของพสกนิกรในอภิมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มาประดิษฐานเหนือซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 2 ซุ้มประตู ออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของอารยธรรมไทย-จีน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ “ฐานเสา” มีสีแดงประดับด้วยลวดลายมังกรสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงตามความเชื่อว่าเป็นสัตว์มงคล จำนวน 1 คู่ ตั้งอยู่บนทางเท้าทั้งสองฝั่งของถนนเจริญกรุง “หลังคา” สีเหลืองสามชั้น โดยตรงกึ่งกลางของหลังคาชั้นบนสุดประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ด้านข้างซ้ายและขวาประดับด้วยมังกรปูนปั้นระบายสีหันหน้าเข้าหาตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ สื่อถึงพสกนิกรชาวไทยเชื้อสายจีนต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณา ธิคุณของพระมหากษัตริย์ ส่วน “ฐานซุ้ม” เป็นฐานปัทม์แบบศิลปะไทยออกแบบโดยกรมศิลปากร มีประติมากรรมมงคลช้าง สิงห์ และกลองแกะสลักจากหินอ่อนหยกขาว “ฮั่นไป๋ยู่” ซึ่งเป็นหินชนิดพิเศษที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณประชาชนจีนประจำประเทศไทย มอบให้เนื่องในโอกาสครบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2568
ในการนี้ ทอดพระเนตรการขับร้องเพลง “สดุดีทศมราชา” จากคณะกรรมการสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และภาคีเครือข่าย พร้อมกับ ทอดพระเนตรการแสดงชุด “เบญจกตัญญุตาบารมีแห่งมังกรสยาม” นำโดรนมาใช้ในการแสดงด้วย
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินตามเส้นทางถนนเจริญกรุงผ่านแยกเอส.เอ.บี ทอดพระเนตรการแสดงโขน ชุดยกรบ จากโรงเรียนวัดสิตาราม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ผ่านแยกเสือป่า มีการแสดงทศมราชัน เป็นการแสดงตีกลองจีนจากโรงเรียนสัมพันธวงศ์เขตสัมพันธวงศ์
ถนนเจริญกรุง ถือเป็นถนนสายมังกรและถนนสายแรกของประเทศไทยที่มีความสำคัญทางการค้าและมีความรุ่งเรืองมาแต่อดีตและยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติทั้งชุมชนชาวจีน ชุมชนชาวตะวันตก ชุมชนชาวมุสลิม รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุข ตลอดเส้นทางทั้งสองฝั่งมีประชาชนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง เปล่งเสียงทรงพระเจริญ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มารอเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาทรับเสด็จอย่างเนืองแน่นเพื่อชื่นชมพระบารมี และแสดงออกถึงความจงรัดภักดี และความศรัทธาที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงแย้มพระสรวล และโบกพระหัตถ์ ให้แก่ประชาชน ยังความปลื้มปีติแก่พสกนิกร ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นล้นพ้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินถึงวัดมังกรกมลาวาส พระคณาจารย์จีนธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาส นำบรรพชิตจีน จำนวน 73 รูป สวดถวายพระพร พร้อมกับถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และถวายของที่ระลึก วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนสร้างขึ้นเมื่อปี 2414 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัด
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง 72 พรรษา” ห้าแยกหมอมี เขตสัมพันธวงศ์ ถนนเจริญกรุงสายนี้มีความสำคัญทางการค้า และมีความรุ่งเรืองมาแต่อดีต และยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีน ชุมชนชาวตะวันตก และชุมชนชาวมุสลิม รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ในการนี้ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อมภริยา และนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน พร้อมคณะกรรมการ ฯ นายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย นายกิตติ อิทธิภากร ประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย สมาคมจีนเก้าภาษา และองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และนักร้องเยาวชนร่วมขับร้องเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน”
ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง 72 พรรษา” ด้านหลังมีข้อความภาษาจีนเขียนว่า (จั่วโหยว หยงเอี้ยน) หมายถึง พสกนิกรร่มเย็นเป็นสุขชั่วนิรันดร์ และเป็นความเทิดทูนของพสกนิกรต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสะท้อนถึงพระราชจริยวัตรแห่งความกตัญญูกตเวที ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งพลัง ความยิ่งใหญ่ และความอ่อนน้อมต่อพระผู้มีพระคุณ ทรงกตัญญูต่อสมเด็จพระบรมราชบุพการี และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงให้ความสำคัญกับการเจริญสัมพันธไมตรี กับนานาอารยประเทศ และทรงตั้งพระราชหฤทัย ในการดูแลทุกข์สุขราษฎร ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ให้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข. -211 สำนักข่าวไทย