หนานจิง, 15 ม.ค. — คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนค้นพบพืชขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 410 ล้านปีก่อน ในเมืองตูอวิ๋น มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับกระบวนการที่พืชย้ายถิ่นมาตั้งรกรากบนแผ่นดิน
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นักวิจัยของสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่าพืชตระกูลโซสเทโรฟิลลัม (Zosterophyllum) ที่ค้นพบนั้นสูงเพียง 45 มิลลิเมตร ช่ออับสร้างสปอร์มีความยาวเพียง 5.8-10.8 มิลลิเมตร ต่างจากพืชชนิดใกล้เคียงในยุคเดียวกันที่มีความยาวปกติ 100-200 มิลลิเมตร ซึ่งขนาดอันเล็กกะทัดรัดนี้ถือว่าเป็นลักษณะที่พบได้ยากมาก
นักวิจัยเชื่อว่าพืชขนาดเล็กนี้ต้องการสารอาหารน้อยกว่าและมีกระบวนการสืบพันธุ์ยุ่งยากน้อยกว่า มีแนวโน้มอายุขัยสั้น และมีวงจรชีวิตรวดเร็ว โดยศักยภาพการปรับตัวลักษณะนี้อาจเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมปั่นป่วนในอดีต และเป็นกลยุทธ์การอยู่รอดของพืชในช่วงเวลาดังกล่าว
เมื่อราว 430 ล้านปีก่อน พืชเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านถิ่นที่อยู่อาศัยจากในมหาสมุทรสู่ผืนแผ่นดิน ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของโลกอย่างมีนัยสำคัญ
หวง ผู นักวิจัยผู้ช่วยจากสถาบันฯ กล่าวว่าพืชบกในยุคแรกน่าจะต้องพึ่งพากลยุทธ์การเอาชีวิตรอดที่หลากหลายเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน กระทั่งสามารถตั้งรกรากบนแผ่นดินและปกคลุมโลกไปด้วยสีสันเขียวขจี
ผลการวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารโพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะรอยัล โซไซตี บี (Proceedings of the Royal Society B) ในวันพุธ (15 ม.ค.).-813.-สำนักข่าวไทย