กกต. 10 ม.ค.- ประธาน กกต. เผยบัตรเลือกตั้ง อบจ. พร้อมส่งทั่วประเทศ มีร้องเรียนแล้วกว่า 30 เรื่อง ซื้อเสียง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ว่า สำหรับบัตรเลือกตั้งได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดส่งไปยังอบจ.ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเราขอให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดรถไปขนบัตรที่โรงพิมพ์ โดยกระบวนการก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปกับรถขนบัตร รวมถึงมีการนำจีพีเอส ไปติดที่รถ ทำให้ทราบว่ารถคันนั้นได้เดินทางไปถึงไหนแล้ว เมื่อบัตรถูกส่งถึงไปยังอบจ. ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะนำไปเก็บไว้ในห้องปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล พร้อมกับมีกล้องวงจรปิดติดตามตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการในเรื่องอื่นๆ อีกทั้งยังมีการพูดคุยกับผู้ที่ทำหน้าที่ในการเลือกตั้ง โดยได้มีการเปิดอบรมพนักงานสืบสวน และคณะกรรมการไต่สวนของ กกต.จำนวน 560 คน รวมถึงกำลังจะมีการตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันป้อมปราบเรื่องการซื้อเสียง และในช่วงใกล้วันเลือกตั้งก็จะมีการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้เกิดความแม่นยำในการทำหน้าที่ กปน. ถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ ซึ่งเราก็ย้ำว่าต้องระมัดระวังในเรื่องไหนบ้าง
ส่วนผู้มาใช้สิทธิเราก็ยังตั้งเป้าว่าให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 โดยจะพยายามประชาสัมพันธ์ ให้ผู้มีสิทธิออกมาใช้สิทธิให้มาก เพราะเป็นการสะท้อนถึงความพร้อมของประชาธิปไตยที่มีรากฐานอันมั่นคงยิ่งขึ้นว่าเริ่มจากท้องถิ่น อย่างไรก็ตามหากไม่ได้ไปใช้สิทธิควรที่จะแจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธินั้นด้วย เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิบางประการเหมือนกับการสมัครอบจ.ครั้งนี้ที่ผู้สมัครหลายคนขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่แจ้งเหตุ
นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงเรื่องร้องเรียนเลือกตั้ง อบจ.ในขณะนี้ ว่า มีอยู่ 30 กว่าเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการซื้อสิทธิขายเสียง ส่วนเรื่องการหาเสียงอยากให้แยกเกี่ยวกับการพูดถึงนโยบายระดับชาติกับการหาเสียงระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่บางครั้งเชื่อมโยงกันได้ แต่จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงที่ผิดกฎหมายหรือไม่ มีอยู่ 2 ข้อหลัก คือ 1. หาเสียงว่าจะให้หรือเสนอให้ 2. หาเสียงหลอกลวง ซึ่งถ้าหาเสียงว่าจะให้มันก็เข้าข่ายผิดกฎหมายแน่นอนตามมาตรา 65 (1) แต่ถ้าเป็นการหาเสียงหลอกลวงเพราะมันไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของอบจนั้นๆ ก็เข้าข่ายหลอกลวงได้ เพราะฉะนั้นการกล่าวถึงเวลาเราพูดถึงบริบททั่วๆไปบางครั้งกล่าวไปทางนั้นทางนี้ มันจะใช่ถึงขนาดหาเสียงหลอกลวง สัญญาว่าจะให้หรือไม่ ต้องดูบริบทแต่ละอันเป็นรายกรณีไป รวมถึงดูรายละเอียดด้วย
เมื่อถามว่าผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงจึงควรหาเสียงเฉพาะสิ่งที่ อบจ.ทำได้เท่านั้นหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า การที่ผู้สมัครจะเสนอนโยบายที่ตนเองจะเข้าไปปฏิบัติหากได้รับเลือกว่าจะทำงานด้านอะไรบ้าง เพราะอำนาจหน้าที่ของ อบจ.ก็มีระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน การหาเสียงก็ควรจะมุ่งเน้นในกรอบตรงนั้น จะพูดเลยไปบ้างส่วนตัวมองว่าก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร
เมื่อถามว่าถ้าตามกฎหมายขอบเขตของผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนั้นมีแค่ไหน นายอิทธิพร กล่าวว่า ผู้ช่วยหาเสียงพูดในนโบายที่ผู้สมัครประสงค์จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนต้องหาเสียงในนโยบายที่ผู้สมัครเขานำเสนอด้วย เพราะไม่เช่นนั้นถ้าไปหาเสียงแล้วไม่พูดถึงนโยบายที่จะไปทำในจังหวัดนั้นๆ มันก็ไม่ใช่การหาเสียง และจะกระทบต่อการที่จะไม่ได้คะแนนด้วย เช่นไปพูดถึงเรื่องอื่น โดยไม่พูดว่าจะไปทำอะไร ในบริบทที่เป็นงานของตัวเองคะแนนก็อาจจะไม่ค่อยได้ .314.-สำนักข่าวไทย