กรุงเทพ 24 ก.ย. -นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (2) ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยสาระสำคัญของหนังสือที่ส่งให้นายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่า 6 ประเด็น ที่กรรมการสิทธิมนุษยชนเคยเสนอความเห็นไปนั้น มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนนายกรัฐมนตรี จะดำเนินการส่ง ร่างกฎหมายลูกดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม การทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการทำในฐานะตำแหน่งประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ได้ทำในนามขององค์กรแต่อย่างใด
สำหรับ 6 ประเด็น ที่กสม.เห็นว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.กรณีเกี่ยวกับกรรมการสรรหา กสม.ที่ร่างกฎหมายกำหนดว่าหากพ้นกำหนดเวลาเลือกกรรมการสรรหาที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังไม่มีกรรมการสรรหาที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสรรหาไม่ต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ถือว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 246 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้มีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย 2.ประเด็นเกี่ยวกับผู้สมัครเป็น กสม.ร่างกฎหมายกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของ กสม.เกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่หลักการปารีสมิได้กำหนดระยะเวลาเกี่ยวกับความรู้หรือประสบการณ์ การกำหนดในร่างกฎหมายไว้เช่นนี้ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิบุคคลที่เสนอตัวมาทำหน้าที่ เกินสมควรแก่เหตุและยากแก่การสรรหา ขัดต่อหลักนิติธรรม ร่างกฎหมายจึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 246วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และ 26 วรรคหนึ่ง 3.ประเด็นการเซ็ตซีโร่ กสม.มิได้เป็นไปอย่างสุจริต ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการตรากฎหมายกำจัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลไม่เป็นตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสองและมาตรา 26 วรรคหนึ่ง 4.เรื่องอำนาจและหน้าที่ของกสม.โดยเสนอให้แก้ไขร่างมาตรา 29 วรรคหนึ่งที่กำหนดให้กสม.แต่งตั้งอนุกรรมการได้เฉพาะกรณีไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มาเป็นให้แต่งตั้งได้ในกรณีจำเป็น 5.ให้แก้ไขร่างมาตรา 34 ที่ไม่ได้กำหนดให้กสม.สามารถไกล่เกลี่ยได้ มาเป็นว่าในกรณีที่สมควร จำเป็น และได้รับความยินยอมจากคู่กรณี กสม.อาจดำเนินไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีทำความตกลงเพื่อประนีประนอมและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และ 6.แก้ไขร่างมาตรา 44 ที่บังคับให้กสม.ชี้แจงรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง กรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมทุกกรณี มาเป็นว่ากสม.อาจพิจารณาตรวจสอบเพื่อที่จะชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ .-สำนักข่าวไทย