กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – กนง. ชี้หนี้รถยนต์-เอสเอ็มอี ชะลอตัว หนี้เสียเพิ่ม เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง จับตาผลมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” บรรเทาหนี้กลุ่มเปราะบางตรงจุด
ภายหลังการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6/2567 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2567 โดยคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวรวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้นนั้น
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ กนง. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้าโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ขณะที่ เศรษฐกิจไทย ในปีนี้จะ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 และในปี 2568 ขยายตัวที่ร้อย2.9 ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าหมวออิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องจักร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.4 2567 และ 1.1 ในปี 2568 โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สินเชื่อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจที่ลดลง โดยหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิด-19 ลงในช่วงปี 64 ส่งผลให้หนี้เสียเพิ่ม รถถูกยึดเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีสงครามราคาจากรถอีวี สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าสินเชื่อรถยนต์ชะลงตัวลง ส่งผลกระทบต่อยอดขาย ขณะที่มองไปข้างหน้า ก็เริ่มเห็นสัญญาณราคารถมือสองทรงตัว ขณะที่สินเชื่อของธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น หดตัวตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อและนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลของมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ของภาครัฐที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับกลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด
นายสักกะภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอย่างมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย ทั้ง ทิศทางนโยบายการค้าโลก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม คณะกรรมการจึงเห็นว่าความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น จึงต้องติดตามพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป. -516- สำนักข่าวไทย