นนทบุรี 21 ก.ย. – รัฐมนตรีพาณิชย์ย้ำไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องนำเข้าหมูช่วงเยือนสหรัฐ แต่พูดคุยการทบทวนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้บริหารการค้าของสหรัฐประชุมแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ หลายเรื่องและไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นที่สหรัฐจะขอส่งออกเนื้อหมูเข้ามาในประเทศไทยแต่อย่างใด โดยมีการหารือกรณีไทยปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสหรัฐชื่นชมไทยดูแลอย่างดี จึงมีโอกาสที่ไทยจะหลุดพ้นจากประเทศถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาเป็นประเทศถูกจับตามอง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า กรณีกลุ่มสมาคมผู้เลี้ยงหมูยื่นหนังสือถึงกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศช่วงที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา โดยเห็นว่าทางกรมเจรจาการค้าฯ จะเดินทางไปเจรจาเปิดนำเข้าเนื้อหมูที่สหรัฐอเมริกา จึงพยายามคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ เนื่องจากมีสารเร่งเนื้อแดง หรือมีการใช้สาร แร็คโต ปามีน ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายไทยด้วยนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ขอให้ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศอย่ากังวลมากจนเกินไป ซึ่งการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของคณะผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางด้านต่าง ๆ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีของไทยจะเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ซึ่งยังไม่มีการหารือเฉพาะเรื่องสินค้าหมูตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ขัดข้อง หากผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศมีความกังวลเรื่องดังกล่าว เพราะตามข้อกฎหมายกระทรวงพาณิชย์ไม่มีการห้ามนำเข้า แต่เรื่องของสินค้าหากเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นสินค้าที่อันตรายต่อการบริโภคและนำมาใช้ประเทศจะมีกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ จากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีที่ผู้เลี้ยงหมูวิตกหากให้นำเข้าหมูจากสหรัฐที่มีสารเร่งเนื้อแดง หรือมีการใช้สารแร็คโต ปามีนจริงจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์และกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะคณะกรรมการอาหารและยา ดังนั้น หากจะให้มีการนำเข้าจริงทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องพิจารณาเห็นชอบก่อนและคงเป็นไปไม่ได้หากจะปล่อยให้สินค้าที่มีสารพิษหรือเป็นสินค้าอันตรายเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยบริโภคหรือนำมาใช้กันอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะไปเจรจาตามกรอบใดกับประเทศหรือกลุ่มต่างหน่วยงานกำกับดูแลทั้งทางตรงและทางอ้อมจะต้องให้ได้ข้อสรุปว่าเป็นอันตรายต่อการใช้หรือบริโภคกันหรือไม่ และการเจรจาจะต้องให้เกิดความสมดุลระหว่างกันจะไม่มีใครได้หรือเสียเปรียบกันมาก หากเห็นว่าธุรกิจไหนไม่สามารถแข่งขันได้ภาครัฐก็จะมีมาตรการช่วยเหลือปรับตัวให้กับภาคธุรกิจนั้น ๆ ที่ไม่สามารถแข่งขันตามกรอบเสรีการค้า ประกอบกับจะต้องไม่ทำให้ภาคธุรกิจเดิมของไทยเสียเปรียบตามกรอบเปิดเสรีการค้า ซึ่งที่ผ่านมาปกป้องตามกรอบอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย