ยะลา 30 พ.ย. – สทนช. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเขื่อนบางลาง คาด 7 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้า 500 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้เกือบเต็มความจุเก็บกัก จึงต้องปรับเพิ่มการระบาย ช่วงวันที่ 2-4 ธ.ค. ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้น 4-6 ธ.ค. จะได้รับอิทธิพลจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ โดยระบุว่า ในระยะนี้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่มาทางประเทศไทย ประกอบกับลมตะวันออกที่พัดเข้ามาปกคลุมภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ช่วงวันที่ 2-4 ธันวาคม 2567 จะมีปริมาณฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงมีฝนตก จากนั้นในช่วงวันที่ 4-6 ธันวาคม พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับอิทธิพลจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลต่อการระบายน้ำออกสู่ทะเล
ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยแม่น้ำหลายสายล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำโก-ลก และคลองอู่ตะเภา
จากการคาดการณ์ฝนพบว่า มีบางพื้นที่จะมีฝนตกหนักเกินกว่า 200 มิลลิเมตร ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินโคลนถล่มเพิ่มขึ้น ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง จึงได้ประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม
นอกจากนี้ ยังติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำบางลาง จ.ยะลา อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน ได้งดการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่ออุทกภัย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 919 ล้าน ลบ.ม. (63%) แต่จากการคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า จะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามาในเขื่อนบางลาง 500 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้มีน้ำเพิ่มสูงขึ้นเกือบเต็มของความจุเก็บกัก ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของเขื่อน จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำในอัตราการระบายน้ำไม่เกิน 16 ล้าน ลบ.ม./วัน หรือ 185 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่สถานี X40A ที่กำลังลดลง ไม่ให้เกินระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่อัตรา 1,517 ลบ.ม./วินาที หรือ +18.97 ม.รทก. โดยให้คำนึงถึงฝนที่ตกลงมาด้านท้ายเขื่อนด้วย ทั้งนี้ จะนำผลการคาดการณ์ดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อไป
คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อเสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบระบบการป้องกัน การแจ้งเตือนภัย และการเผชิญเหตุ เพื่อรองรับสถานการณ์ ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น.-512-สำนักข่าวไทย