รัฐสภา 25 พ. ย. – อนุ กก.ความปลอดภัยบนท้องถนน ขยับอีกรอบเตรียมเชิญ หน่วยงานเกี่ยวข้องถกรับมือ หยุดยาวปีใหม่ “นิกร” เล็งส่งข้อเสนอแนะ “บัส นร.อุทัยไฟไหม้” โอด กม.บ้านเรา มีระเบียบไว้หมดแล้ว แต่มีปัญหาที่การปฏิบัติ
นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาและกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกัน และลดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางท้องถนนแห่งรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ว่าวันนี้จะเป็นการประชุมในชั้นอนุกรรมการประสานงานรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ที่มีตนเป็นประธาน โดยจะเน้นไปที่กรอบของ การทำงาน ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของสภาชุดนี้ ซึ่งจะมีการรวบรวมความเห็น เข้าไปในกรรมการชุดใหญ่วันที่ 18 ธ.ค. โดยในวันนั้นจะมีการเชิญหน่วยงานของรัฐ ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน มาประชุมร่วมกัน เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลหยุดยาว จะมีการสอบถามว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการอะไรไว้บ้าง ซึ่งทางเราก็จะเสนอข้อเสนอแนะว่าอนุกรรมการแต่ละชุดมีความเห็นว่าอย่างไร พร้อมย้ำว่ากรรมการ จะติดตามกำกับดูแลรัฐบาลไปตลอดในช่วงเทศกาลหยุดยาว แผนที่เสนอนอกจากนั้น จะมีการเสนอแผน ที่ได้มีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้รถบัสนักเรียน ที่กรรมการได้ประชุม ซึ่งกรรมการเห็นว่า มีข้อกฎหมายมีข้อระเบียบอยู่แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ จึงเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคม ให้มีการกำกับดูแล และปฏิบัติตามระเบียบ นับจากนี้ไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือตอบกลับมาที่กรรมการว่าได้รับทราบแล้ว และแจ้งข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวันที่ 18 ธ.ค. เราจะเสนอไปอีก โดยจะเสนอไปที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลในส่วนนี้
เมื่อถามว่าจะต้องมีการเชิญนายอนุทินเข้ามาที่กรรมการด้วยหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่าวันที่ 18 ธ.ค. เรานัดหมายแล้ว จะเชิญเลขาอำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยบนท้องถนน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ตั้งใจจะมีแผนอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าเรื่องรถบัสไฟไหม้ ที่มีการถอดบทเรียน คนเริ่มลืมไปแล้วกังวลหรือไม่ว่าคนจะไม่ตระหนัก นายนิกร กล่าวว่า เรามีกฎหมายเยอะแยะไปหมด ตนทำงานด้านนี้มา 20 แนวทางมีอยู่หมดแล้ว แต่ประเด็นคือไม่ได้เอาไปทำ ซึ่งเราจะเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติ ให้ขนส่งจังหวัดไปตรวจสอบดูรถ ตรวจแล้วตรวจอีก เพราะการไปทัศนศึกษานักเรียนถือเป็นกลุ่มเปราะบาง เด็กเขาจะไปรู้อะไร บางทีต้องมีการกำกับดูแลเช่นการใช้ค้อน และอุปกรณ์ดับเพลิง หรือประตูฉุกเฉิน ต้องมีการทดสอบ มันต้องมีการตรวจให้ปฏิบัติได้จริงไม่ใช่แค่ในเชิงข้อกฎหมาย
“ข้อกฎหมายมันมีครบหมดทุกอย่างแล้ว มีระเบียบ แต่การปฏิบัติ มันต้องเป็นในลักษณะเหมือนเราตัดผม ถ้าเราไม่ตัดผมผมมันก็รก มันก็ยาว ต้องตัดทุก 3 อาทิตย์ ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก” นายนิกร กล่าว.-319 -สำนักข่าวไทย