ทำเนียบ 19 พ.ย.-สารพัดม็อบบุกทำเนียบ ยื่นหนังสือ นายกฯ ทวงคืนความยุติธรรมและผลักดันการนิรโทษกรรมให้ผู้ถูกดำเนินคดี ม. 112
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19พ.ย.)มีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณ พื้นที่โดยรอบทำเนียบรัฐบาลและถนนราชดำเนิน ที่บริเวณเกาะกลาง หน้าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ถ.ราชดำเนินนอก กลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ส.ก.ท.ฟ.) ยอดผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 67 (72 คืน 73 วัน) นำโดย นางนิสา คุ้มกอง วัตถุประสงค์ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ดังนี้ 1. ติดตามมติ ครม.กรณีการปรับโคงสร้างหนี้ 4 แบงค์รัฐ ประเด็นถูกฟ้อง ถูกยึด ถูกขายทอดตลาด และเพิ่มเติมรายชื่อสมาชิกลูกหนี้ 2. เร่งรัดขอให้มีการประชุมบอร์ดใหญ่ กฟก. 3. ความคืบหน้าเรื่องหนี้โครงการส่งเสริมของรัฐ (คปร.) และ4. ของบประมาณจัดการหนี้ กรณีสมาชิกที่มาชุมนุม (ผู้เดือดร้อนเรื่องหนี้) แจ้งการชุมนุมสาธารณะ สน.นางเลิ้ง ถึงวันที่ 30 พฤษจิกายน 2567
ขณะที่บริเวณทางเท้าริมคลองฝั่งถนนกรุงเกษม ระหว่างแยกประชาเกษม และแยกมัฆวาน ตรงข้ามโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริยารามฯ กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (กลุ่มเงื่อนไขใหม่) ยอดประมาณ 50 – 80 คน ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.67 (57 คืน 58 วัน) นำโดยน.ส.บุญญาภา ผูกธรรม รองประธานฯ วัตถุประสงค์ เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลืองบประมาณช่วยเหลือพี่น้องผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และขอให้แต่งตั้งตั้งรายชื่อคณะกรรมการกลางจากตัวแทนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจำนวน 35 คน เป็นคณะกรรมการร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากฎเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย – แจ้งการชุมนุมสาธารณะ สน.นางเลิ้ง ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
ส่วนที่บริเวณด้านข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนลูกหลวงเขตดุสิต สมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน(สกอ.)และ สมาพันธ์เกษตรกรอีสาน(สพอ.)มวนชนประมาณ 100 คน นำโดย นายศักดา กาญจนเสน และ นางบุรี อาจโยธา ติดตามและเร่งรัดให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของรัฐแจ้งการชุมนุมที่สน.ดุสิต ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.16 ธ.ค.67
ทำเนียบรัฐบาล คณะผู้แทนองค์กรนิสิตนักศึกษา และภาคประชาชน มวลชนประมาณ 20-30 คน นำโดย น.ส.อรัญฐิกา เสรีเกษตร จัดกิจกรรมตีระฆังร้องทุกข์ปลุกรัฐบาล เชิญนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รับจดหมายเปิดผนึกข้อเรียกร้องและทวงถามแนวทางการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง จากองค์กรนิสิตนักศึกษาและเครือข่ายภาคประชาชน
ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ นำโดย นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมฯ ยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถจดทะเบียนให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่รับจ้างสาธารณะ ได้รับผล กระทบ
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ร่วมกับ THUMBRIGHTS เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมือง นำโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ, นายนัสรี พุ่มเกื้อ จัดกิจกรรม 4 ปี ใต้เงา ม.112 (Under Section 112) ทบทวนสถานการณ์ตลอดห้วงเวลาความยุติธรรมอันมืดมน 4 ปีที่ผ่านมา ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง ใครบ้างได้รับผลกระทบกับสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ และปลายทางของเรื่องนี้จะยุติลงเมื่อไหร่ ได้ด้วยวิธีใดบ้าง นิรโทษกรรม คือเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดแล้วหรือไม่
จากนั้นเวลา 10.00 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์กรนิสิตนักศึกษา 20 องค์กร เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อ นายกรัฐมนตรี ที่ประตู 3 ฝั่งสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ทำเนียบรัฐบาลเรื่อง(วาระครบ 4 ปี ที่มีการนำกฎหมายมาตรา 112 กลับมาบังคับใช้ และทวงถามแนวทางในการแก้ไขปัญหาคดีการเมืองจากรัฐบาล) นำโดย น.ส.ทยิดา ศิริพงษานุวัฒน์ นางสาคร คำแถลง นายสามารถ ปุยปัญจะ นายกีรติ สโมรินทร์ นาย วรัณชัย โชคชนะ นาย สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมืองนาง วรวรรณ แซ่อั้ง นาย อันเจลโลว์ สตายุ สาธร นาย เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ และ นาย เอกชัย หงษ์กังวาล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯแพทองธารขอทวงคืนความยุติธรรมและผลักดันการนิรโทษกรรมให้ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112
โดยนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีรับหนังสือ
หลังเสร็จสิ้นการยื่นหนังสือ ทางกลุ่มได้ทำการผูกโบว์สีขาวไว้ที่ข้อมือของ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จากนั้น ทางกลุ่มได้ร่วมกันผูกโบว์สีดำไว้ที่ข้อมือ พร้อมชู 3 นิ้ว และหันหน้าไปทางทำเนียบรัฐบาลก่อนร่วมกัน ตะโกนคำว่า คืนความยุติธรรม นิรโทษกรรม 112 เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ทั้งนี้ นายอันเจลโลว์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการยื่นหนังสือว่า การยื่นหนังสือในวันนี้ตนได้รับคำตอบในลักษณะเดิม คือเรื่องข้อจำกัดทางนิติบัญญัติ ในการผ่านพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม เพราะมีหลากหลายความคิดเห็น โดยกลุ่มพยายามถามใน ลักษณะที่ว่ามีบางกรณีที่ฝ่ายบริหารสามารถกระทำได้ โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ในอำนาจของกระทรวงยุติธรรม เช่นการแก้ไขกฎราชทัณฑ์ ซึ่งทาง นายสมคิด ชี้แจงเพียงว่า ทางรมว.ยุติธรรม ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้แล้ว แต่ตนมองว่าเป็นการชี้แจงที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการอย่างไร และกลุ่มหวังว่าจากนี้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นและทางกลุ่มก็จะมาติดตามต่อไป ในอนาคต.-312.-สำนักข่าวไทย