กทม. 14 พ.ย.-“แสวง” เลขาฯ กกต. เชื่อเลือกตั้งแข่งขันสูง ทำคนแห่ใช้สิทธิมากขึ้น ยังไม่พบทำผิดกฎหมาย ไม่ขอให้ความเห็น นายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระเหมาะสมหรือไม่ ถือเป็นสิทธิ-คนลาออกคงมีเหตุผล
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการเลือกตั้งนายกอบจ.ว่า เบื้องต้นจากข้อมูลที่มีนายกอบจ.ลาออก มีทั้งหมด 29 จังหวัด และมีการเลือกตั้งไปบางส่วนแล้ว ขณะที่วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายนนี้ จะมีการเลือกใน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช และในสัปดาห์ถัดไปก็จะเป็นจังหวัดกำแพงเพชร และใน 29 จังหวัดนี้บางจังหวัดก็ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้ง และยังไม่แน่ใจว่าอาจจะการลาออกของนายกอบจ.มีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
ส่วนการเลือกตั้ง นายก อบจ. ที่จังหวัดอุดรธานี ดูจะเข้มข้น กว่าจังหวัดอื่นๆ นั้น นายแสวง กล่าวว่า จริงๆ เราชอบ เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสนใจและตื่นตัว ที่จะไปออกเสียงลงคะแนน การเลือกแบบทยอยเลือกที่ผ่านมาผู้ใช้สิทธิ์มีน้อย การประชาสัมพันธ์ค่อนข้างเงียบและมีข่าวอื่นเข้ามากลบ และเมื่อเกิดกรณีแบบจังหวัดอุดรธานี ผู้ช่วยหาเสียง ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชน ก็ทำให้มีความน่าสนใจ ในแง่ของสื่อและประชาชนเอง และน่าจะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์กันมากขึ้น ส่วนจะมีความสุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้นเท่าที่ติดตาม ยังอยู่ในกรอบ คือการแข่งขันที่สูง หรือเข้มข้นไม่ได้บอกว่าจะต้องผิดกฎหมาย แต่มีโอกาสที่จะผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเลือกระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ก็สู้กันที่วิธีคิด คือประชาชนจะเลือกเพราะจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้มากกว่าจะใช้วิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีที่นายกอบจ.ลาออกก่อนครบวาระจะกระทบกับงบประมาณหรือเป็นเทคนิคทางการเมืองนั้น ตนในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องนี้ ให้ประชาชนพิจารณาดู ว่าควรจะเป็นแบบนี้หรือไม่ กฎหมายออกแบบให้ต้องการอีกเรื่อง แต่คนใช้ใช้อีกเรื่อง พอไม่ตรงกันก็เหมือนมีช่องว่าง ซึ่งถ้าหากจะมีการแก้กฎหมายสำนักงานก็พร้อมให้ความเห็น แต่ในขณะนี้ตนยังไม่ขอให้ความเห็น เพราะเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ คนที่ลาออกก็คงจะมีเหตุผลไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมายหรือเหตุผลเชิงการเมืองในพื้นที่
สำหรับการวินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัครที่ได้มีการเน้นย้ำ เพราะ กกต.ตระหนักอยู่แล้วว่าการลงสนามต้องวินิจฉัยให้ถูกต้อง เพราะการวินิจฉัยผิดแล้วให้คนเข้ามาในสนามหรือ มีคุณสมบัติแต่จำหน่ายสิทธิ์ ก็เป็นการกระทบสิทธิ์ของผู้สมัคร และเป็นการตัดโอกาสของประชาชนที่จะเลือกไปด้วย ครั้งนี้จึงต้องอำนวยความสะดวกให้กับผอ.การเลือกตั้ง ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเพื่อให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอยากให้มีการรวบรวมให้เป็นระบบ ครบถ้วนเข้าถึงง่าย เมื่อมีผู้มาสมัครก็สามารถเปิดดูได้ทันทีว่าใช้สิทธิ์คุณสมบัติข้อไหน และต้องตรวจสอบกับหน่วยงานอื่นด้วยซึ่งตรงนี้จะเสียเวลาแต่ทำให้เรารอบคอบขึ้น
ส่วนงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ละจังหวัดต้องเป็นคนตั้งงบประมาณเอง และจัดงบไม่เท่ากัน อบจ. ที่ใหญ่ก็ต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งจะใช้งบท้องถิ่น 90% และงบของสำนักงาน กกต. เพียงแค่ 10% เป็นเรื่องของ การควบคุมทำให้การเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม.-315.-สำนักข่าวไทย