ทำเนียบฯ 15 ก.ย. – บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ หวังเพิ่มขีดแข่งขันภาคเกษตรอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร สตาร์ทอัพให้บริการวางระบบโรงเรือนอัจฉริยะยกเว้นภาษี 5 ปี เผยยอดอนุมัติส่งเสริมลงทุน 8 เดือน 500,000 ล้านบาท
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบขยายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Thailand 4.0 ประกอบด้วย นโยบายยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้โดรนบินวัดประเมินผลหลายด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการออกแบบทางวิศวกรรมมาปรับเปลี่ยนการผลิตภาคเกษตรดั้งเดิมให้ทันสมัยขึ้น การพัฒนาระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ระบบการควบคุมการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ ปุ๋ย และระบบตรวจจับหรือติดตามสภาพต่าง ๆ ดังนั้น จึงส่งเสริมให้สตาร์ทอัพยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5ปี
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรรายเดิมยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากลที่ประเทศไทยมีผู้ได้รับการรับรองน้อย เช่น มาตรฐานการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO22000) เป็นต้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล จะให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี วงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่ใช้ในการยกระดับมาตรฐาน กำหนดให้ยื่นคำขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2563 สำหรับนโยบายส่งเสริมการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติ จากผู้ประกอบการรายเดิมหรือผู้ลงทุนใหม่ จากเดิมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมด ได้ปรับสัดส่วนเพิ่มได้รับยกเว้นภาษีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน จากเดิมให้สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุน โดยมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวิจัยพัฒนา กำหนดให้ยื่นคำขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2563 จากเดิมครบกำหนดปี 2560
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่ม โดยให้กิจการในกลุ่ม A1 และ A2 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม หากลงทุนเพิ่มด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อกิจการ “สถานฝึกฝนวิชาชีพ” ให้เปลี่ยนเป็น “กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เพื่อครอบคลุมเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ และสถาบันการศึกษาภาคเอกชน ให้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว โดยจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเพิ่มเป็น 8+1 ปี, 8+2ปี, 8+3 ปี
นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอเห็นชอบให้ส่งเสริมการลงทุน 3 กิจการใหญ่ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 28,000 ล้านบาท ค่ายรถยนต์ “ซูบารุ” ขยายการลงทุนในไทย 5,000 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในชลบุรี ลงทุนรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ทั่วไปตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยบริษัทจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งอเนกประสงค์รุ่นที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์และมีประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสูงสุดของรถยนต์ซูบารุในประเทศไทย จากเดิมมีฐานการผลิตอยู่แล้วที่มาเลเซียขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากเห็นโอกาสและการเติบโตด้านยอดขายทั้งในไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เช่น ถุงลมนิรภัย กระจก เบาะนั่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,824 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุน ณ ยอดเดือนสิงหาคมประมาณ 500,000 ล้านบาท ขณะที่การยื่นคำขอรับการส่งเสริมจากภาคเอกชนยังมั่นใจว่าจะมียอดสิ้นปีประมาณ 600,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย