กรุงเทพฯ 4 พ.ย.-รมว.กต. เตรียมร่วมคณะ นายกฯ ประชุม GMS Summit ครั้งที่ 8 และการประชุม ACMES Summit ครั้งที่ 10 ที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน 6-7 พ.ย.นี้ พร้อมจะรับรองร่างปฏิญญาร่วมฯ- ร่างยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 2030
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดร่วมคณะของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (8th Greater Mekong Subregion (GMS) Summit) และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ครั้งที่ 10 (10thAyeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) Summit) ระหว่างวันที่ 6 – 7 พฤศจิกายน 2567 ณ นครคุนหมิง มนฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิม ด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำในรูปแบบพบหน้าครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561
สำหรับการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 8 มีเอกสารผลลัพธ์ที่จะรับรองในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ 1.ร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 8 และ 2.ร่างยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ค.ศ. 2030 รวมถึงให้ผู้นำ GMS รับทราบผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement : CBTA) ระยะแรกเริ่ม (Early Harvest) อันเป็นความตกลงที่มุ่งให้ประเทศสมาชิกสามารถทำการขึ้นทะเบียนเดินรถขนสินค้าและผู้โดยสารผ่านจุดผ่านแดนที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้
ขณะที่การประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 10 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในฐานะประธาน ACMECS จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำในรูปแบบพบหน้าครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2563
โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการรับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของ ACMECS ภายใต้ 3 เสาหลักของแผนแม่บท ACMECS ค.ศ. 2019 – 2023 การรับรองนิวซีแลนด์เข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพิ่มเติมเป็นประเทศที่ 7 และการรับรองเอกสารแนวคิด เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นภาคผนวกเพิ่มเติมของแผนแม่บทฯ ซึ่งไทยเป็นผู้เสนอ เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ส่งเสริมความร่วมมือและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว.-316.-สำนักข่าวไทย