กรุงเทพ 24 ต.ค.-สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) จัดประกวดไอเดีย “รถไฟในฝัน” ระดับเยาวชน เตรียมสร้างคนรองรับอุตสาหกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมเร่งจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางแบบบูรณาการ
นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้แถลงเปิดตัวโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” (Think Beyond Track) ซึ่งเป็นการประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชนในหัวข้อ “รถไฟในฝัน” พร้อมเปิดวิสัยทัศน์และพันธกิจของ สทร. ในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ
นายจุลเทพ เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นกิจกรรมนำร่องของ สทร. ซึ่งเป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และมีพันธกิจสำคัญด้านหนึ่งคือ การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ จึงได้ริเริ่มจัดโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราง โดยพุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษา อายุระหว่าง 16-22 ปี ในจังหวัดที่มีรถไฟวิ่งผ่าน ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดภายใต้หัวข้อ “รถไฟในฝัน” โดยมีรางวัลเป็นเงินทุนการศึกษารวม 420,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะของเยาวชนในการคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอไอเดียที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคต โดยผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.- 24 พ.ย. 2567 และปิดรับผลงานวันที่ 4 ธ.ค. 2567 หรือศึกษารายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ทางเว็บไซต์www.คิดใหญ่ไปให้สุดราง.net
โดยภารกิจหลักของ สทร. คือ การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของไทยซึ่งคาดหวังว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถยกระดับขีดความสามารถของไทยให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมระบบรางในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมระบบราง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักในกลุ่มเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต เราจึงริเริ่มจัดโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์การพัฒนาระบบราง และหวังว่ากิจกรรมนำร่องครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบราง และมองเห็นโอกาสด้านอาชีพในอุตสาหกรรมใหม่นี้ นอกจากนี้ สทร.ยังมีภารกิจ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างมาตรฐานระบบรางและระบบการทดสอบด้านระบบราง การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศในการรับ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบรางด้วย โดย สทร.ตั้งเป้าจะผลิตหัวจักรรถไฟต้นแบบของไทย หรือ รถดีเอ็มยู ให้ได้ 50 คันต่อปี ภายใน 3 ปีข้างหน้าซึ่งถ้ามีความคืบหน้าทาง สทร.จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง โดยขณะนี้ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า การสร้างอุตสาหกรรมระบบรางโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย จะสามารถช่วยแก้ปัญหาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อีกทางหนึ่ง และอุตสาหกรรมนี้จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายสิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สทร.ต้องการให้คนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนการเดินทางผ่านระบบรางซึ่งการตัดสิน จะให้คะแนนใน 3 ส่วนคือ 1.ความคิดสร้างสรรค์เปิดโลกทัศน์ 2.ผลงานเอาไปใช้ได้แค่ไหน และ 3.ความสามารถในการสื่อสาร ทั้งนี้หากมีเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมมากกว่า 200 คนก็จะถือว่าประสบผลสำเร็จ.-513.-สำนักข่าวไทย