มหกรรมมวยไทยเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา มวยไทยเยาวชนสมัครเล่นชิงแชมเปี้ยนโลก ประจำปี 2567 “อิฟม่า ยูธ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2024” ที่พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 13-19 กันยายน แฟนมวยเข้าชมฟรี โดยรายการดังกล่าวสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมกับ สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ (AMTAT) และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จัดการแข่งขันเพื่อเป็นการต่อยอดขยายฐานกีฬามวยไทยไปทั่วโลก อีกทั้งยังสนองนโยบายรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการผลักดัน “กีฬามวยไทย” ไปสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีนักมวยไทยเยาวชนจากทั่วโลกสมาชิกของ IFMA เข้าร่วมชิงชัยกว่า 100 ชาติ มีนักกีฬาประมาณ 2,000 คน และผู้เกี่ยวข้องอีก 1,500 คน ทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 3,500 คน ซึ่งคาดว่ารายการดังกล่าวจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย 500-1,000 ล้านบาท ในส่วนนักกีฬามวยไทยเยาวชนไทยส่งเข้าร่วมแข่งขัน 26 คน แบ่งเป็นชาย 13 คน หญิง 13 คน โดยช่อง 9 กด 30 ถ่ายทอดสดให้ชม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน การแข่งขันมวยไทยเยาวชนสมัครเล่นชิงแชมเปี้ยนโลก ประจำปี 2567 “อิฟม่า ยูธ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2024” เดินทางเข้าสู่การชิงชัยเป็นวันสุดท้าย มีคีย์แมนวงการมวยไทยเข้าร่วมพิธีปิดอย่างคับคั่งนำโดย นายสุทิน คลังแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย, พล.ต.นิรินธน์ ปุณโณทก ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง, ดร.สุปราณี คุปตาสา อดีตผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ฯลฯ
การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ วันสุดท้าย 57 รุ่น มีนักชกไทยผ่านเข้ามาชิงชนะเลิศทั้งหมด 5 รุ่นด้วยกัน โดยที่ก่อนหน้านี้ทัพนักชกไทยคว้าไปแล้ว 4 ทอง 5 เงิน 8 ทองแดง
ไฮไลต์อยู่ที่ รุ่น 45 กก.หญิง อายุ 16-17 ปี “เสน่ห์งาม กำนันเชษฐ์เมืองชล” นิรชา ตังจิว แชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย พบกับ ชายม่า เอ็ตตาซิรี่ จากโมร็อกโก ตลอด 3 ยกเป็นนักชกไทยที่เหนือกว่าชัดเจน แม้ว่านักชกสาวจากโมร็อกโกจะพยายามเดินหน้าลุยแต่ก็โดนสวนกลับหน้าหงายหลายครั้งจนต้องนับ 8 ตั้งแต่ยกแรก ก่อนที่ครบ 3 ยก กรรมการจะชูมือให้นิรชาเอาชนะไปได้ 30-27 คว้าเหรียญทองและแชมป์สมัยที่ 4 ของตัวเองไปครอง
นิรชา กล่าวว่า พอใจกับผลงานอย่างมากหลังจากได้เก็บตัวมาค่อนข้างนาน รายการนี้ถือว่าเป็นรายการที่ทำผลงานออกมาได้ดีมากๆ ตั้งแต่ไฟต์แรกจนถึงไฟต์สุดท้าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าคู่แข่งเองก็เก่งขึ้นมาเหมือนกัน ฉะนั้นก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาฝีมือตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ส่วนรายการต่อไปก็อยากจะมีชื่อไปแข่งขันในซีเกมส์ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า รวมถึงในอนาคตถ้ามวยไทยได้บรรจุในโอลิมปิกเกมส์ ก็อยากจะได้ไปแข่งขันด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ได้อีก 3 ทอง จาก รุ่น 45 กก.ชาย อายุ 14-15 ปี “เพชรโชกุน ร.ร.กีฬาขอนแก่น” ภัทรนันท์ พิกุลวิลัย ชนะคะแนน อาร์คาดี โบซารี่ จากมอลโดวา 29-28
รุ่น 48 กก.หญิง 16-17 ปี “ธิดาพลอย ศิษย์ผู้ใหญ่จุก” ธิดารัตน์ กันย์บุรี ชนะคะแนน นาซิเล่ มุตลู นักชกจากชาติเป็นกลาง 30-27
และรุ่น 48 กก.ชาย อายุ 16-17 ปี “ดีเซลเล็ก ส.ศรีทอง” ตัสนิม โคตรภักดี ชนะน็อกยกแรก ยุสซุฟ มุคตาสซิป จากคาซักสถาน
ส่วนในรุ่น 51 กก.ชาย อายุ 16-17 ปี “นำขบวน ร.ร.กีฬากรุงเทพ” สิทธินนท์ ดำเนียม พ่ายให้กับ โยเซฟ ฮ็อบส์ จากสหรัฐ 27-30 คว้าเหรียญเงินปิดท้ายให้กับทัพนักชกไทย
สรุปผลงานนักชกไทย ส่งแข่งขันทั้งหมด 26 รุ่น คว้า 8 ทอง 6 เงิน 8 ทองแดง เป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 108 ชาติ โดยมียูเครน เข้าป้ายอันดับ 1 คว้าไป 8 ทอง 9 เงิน 3 ทองแดง ส่วนอันดับ 3 เป็นของ คาซักสถาน 7 ทอง 7 เงิน 16 ทองแดง
โดยทีมมวยไทยของประเทศยูเครน ครองถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประเภททีมชาย และทีมมวยไทยของประเทศไทยครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประเภททีมหญิง
หลังจบการแข่งขัน ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธาน IFMA กล่าวว่า ภาพรวมของการแข่งขันโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการจัดการแข่งขันนั้นถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ มีคนให้ความสำคัญกับการแข่งขันมากขึ้น มีประชาชนเดินทางเข้ามาชม ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีแต่นักกีฬาชมกันเอง และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ตนเดินไปไหนก็มีแต่คนเข้ามาทักอยากให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีก สำหรับผลงานนักกีฬาไทยที่คว้ามาได้ 8 ทองก็ถือว่าทำผลงานได้น่าพอใจ แม้จะไม่ได้ชนะทุกคนเพราะกีฬาก็มีแพ้-มีชนะอยู่แล้ว แต่นักกีฬาไทยพิสูจน์ให้เห็นว่าฝีไม้ลายมือของเราไม่ด้อยกว่าใครและยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นต้นตำรับของมวยไทยได้เป็นอย่างดี
ประธาน IFMA กล่าวอีกว่า ส่วนนักกีฬาต่างชาติต้องบอกว่าพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะนักมวยจากชาติอาหรับที่เป็นฝ่ายหญิงต้องบอกว่าเก่งมากเลย ส่วนทางยุโรปก็จะมีหลายๆ ชาติที่พัฒนาขึ้นมาเช่น รัสเซีย ที่มาชกในฐานะนักกีฬาจากชาติเป็นกลาง, ยูเครน, คาซักสถาน หรือเบลารุส ที่ฝีมือไม่แพ้นักมวยไทยเลยแถมฟิตเนสก็ดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสหรัฐอเมริกาที่หลังจากมีสมาคมกีฬาในประเทศขึ้นมาก็ยกระดับขึ้นมา
“ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าทุกประเทศที่มีมาตรฐานสูงขึ้นเป็นเพราะประเทศไทยเองได้ส่งโค้ชหรือครูมวยฝีมือดี ส่งออกไปสอนให้กับต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกประเทศพัฒนาฝีมือขึ้นมา” ดร.ศักดิ์ชายกล่าว
ดร.ศักดิ์ชาย กล่าวเสริมว่า ในปีนี้นักกีฬาไทยยังเหลือชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศไต้หวัน จากนั้นในปี 2025 จะมีรายการสำคัญที่สุดอย่างซีเกมส์ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ยังมีชิงแชมป์เยาวชนโลก ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และชิงแชมป์โลก ที่อิตาลี รวมถึงรายการอื่นๆ ที่มีการยื่นขอจัดการแข่งขันอยู่ ในส่วนของโอลิมปิกเกมส์ แม้ว่าเราจะได้รับการรับรองจากไอโอซี (คณะกรรมการโอลิมปิกสากล) แล้ว แต่ก็ต้องอยู่ที่ไอโอซีจะเลือกมวยไทยบรรจุเมื่อไหร่ ซึ่งมันไม่ได้มีแค่มวยไทยที่รอบรรจุ แต่ยังมีอีก 15-16 ชนิดกีฬาที่รอเช่นกัน ก็อยากฝากรัฐบาลให้ช่วยสนับสนุน ช่วยมาสนใจมวยไทยไปโอลิมปิกเกมส์ให้มากขึ้น เพราะถ้าไปได้ ไม่ใช่แค่ชื่อเสียง แต่ยังช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย