กรุงเทพ 4 ก.ย.-เลขาธิการ สทนช. ระบุอาจมีพายุไต้ฝุ่นเข้าไทย 1-2 ลูก ช่วงฤดูฝนปีนี้ ขณะที่เดือน ก.ย. จะมีปริมาณฝนมากกว่าเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เตือนเฝ้าระวัง 6-7 ก.ย.นี้
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมการบริหารจัดการน้ำประจำสัปดาห์ ว่า เดือนกันยายนจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าเดือนสิงหาคม โดยพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่น หลังจากนั้นเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ฝนจะไปตกทางภาคใต้แทน ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในฤดูฝนนี้อาจจะมีพายุไต้ฝุ่นเข้าไทย 1-2 ลูก ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะวันนี้เกิดพายุโซนร้อน “ยางิ” (YAGI) ที่ก่อตัวจากประเทศฟิลิปปินส์ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะส่งผลให้จังหวัดตราดและจันทบุรี มีฝนตกหนัก ภาคใต้ฝั่งอันดามันจะมีฝนหนักกำลังแรง
ส่วนในวันที่ 6-7 กันยายน ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะได้รับอิทธิพลจากหางพายุยางิ จะมีฝนตกหนัก ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน และสุโขทัย อย่างไรก็ตาม เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ยังรองรับน้ำได้กว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ยังรองรับน้ำได้อีก 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ได้มีการวางแผนให้ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เตรียมรับน้ำจากแม่น้ำยมได้อีกประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ก็เตรียมรับน้ำจากแม่น้ำน่านได้อีก 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยจะต้องมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นที่สถานีซี 2 นครสวรรค์ จาก 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,200-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท จะมีการระบายน้ำอยู่ที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.) จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามมาตรา 24 ในภาวะวิกฤตระดับที่ 1 โดยจะเชิญจังหวัดที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา เข้าร่วมประชุมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน เพราะหากมีการระบายน้ำ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลกระทบต่อประชาชนท้ายเขื่อน.-513.-สำนักข่าวไทย