กรุงเทพฯ 17 พ.ค. – สทนช. ออกประกาศเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่าง 18 – 25 พ.ค. พร้อมย้ำมาตรการรับฤดูฝน 67 ที่ขณะนี้ใกล้จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว วางแผนระบายน้ำเขื่อนเสี่ยงน้ำล้น ตรวจสอบดูแลพนังกั้นน้ำและระบบเตือนภัยให้มีความพร้อมสูงสุด
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศพบว่า ปัจจุบันมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากจึงได้ออกประกาศสทนช. เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 18 – 25 พฤษภาคมเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 26 จังหวัดดังนี้
- ภาคเหนือได้แก่
- จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฝาง อมก๋อย และจอมทอง)
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และสบเมย)
- จังหวัดลำปาง (อำเภอเกาะคา เถิน และแม่พริก)
- จังหวัดลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน)
- จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอตรอน)
- จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง และแม่ระมาด)
- จังหวัดสุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย)
- จังหวัดน่าน (อำเภอปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว)
- จังหวัดแพร่ (อำเภอวังชิ้น)
- จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย และเนินมะปราง)
- จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และเขาค้อ)
2. ภาคตะวันออกได้แก่
- จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี และศรีราชา)
- จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง)
- จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ขลุง และโป่งน้ำร้อน)
- จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง และบ่อไร่)
3. ภาคใต้ได้แก่
- จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะ และพะโต๊ะ)
- จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ ละอุ่น สุขสำราญ และกระบุรี)
- จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง)
- จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
- จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เขาพนม อ่าวลึก คลองท่อม ปลายพระยา และเกาะลันตา)
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี พนม บ้านตาขุน และเกาะพะงัน) จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า และมะนัง)
- จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน นาโยง กันตัง ห้วยยอด หาดสำราญ รัษฎา และวังวิเศษ)
- จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน และตะโหมด)
- จังหวัดสงขลา (อำเภอสะเดา)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง พิปูน ฉวาง ทุ่งใหญ่ และถ้ำพรรณรา)
สทนช. ยังประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน
การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นต้น ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสภาวะเอลนีโญเข้าสู่สภาวะลานีญาและใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยที่คาดว่า กรมอุตุนิยมวิทยาใกล้จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว
ทั้งนี้คาดว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของฤดูฝนจะยังมีปริมาณฝนตกไม่มากนัก ประกอบกับพื้นดินที่แห้งในช่วงฤดูแล้งจะดูดซับน้ำฝนที่ตกลงมาทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำไม่มาก ซึ่งได้มีการเตรียมน้ำต้นทุนสำรองไว้สำหรับช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว โดยปริมาณฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนในเดือนตุลาคมจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้
สนทนช. กำชับทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม โดยได้มีการวางแผนปรับการระบายน้ำในอ่างฯ ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะน้ำล้นเช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนบางลาง จ.ยะลา เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น และแผนระบายน้ำดังกล่าวจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อพิจารณา โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานมีการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เร่งตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับกรณีเกิดน้ำหลากจากฝนตกหนัก
อีกทั้งจะมีการซักซ้อมร่วมกับหน่วยงานเตือนภัย เช่น กรมทรัพยากรน้ำ ในการดูแลเตรียมความพร้อมของเครื่องมือ ไปจนถึงระบบการแจ้งเตือนภัย และการเตรียมแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของ ปภ. โดยปภ. ได้ประสานไปยังทุกจังหวัดให้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนแล้ว
นอกจากนี้สทนช. จะซักซ้อมความเข้าใจในการเตรียมรับมือสถานการณ์ในฤดูฝนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ยังคงกำชับให้หน่วยงานวางแผนการใช้น้ำโดยคำนึงถึงปริมาณน้ำในฤดูแล้งถัดไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งคำนึงถึงโอกาสในการเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงช่วงฤดูแล้งซึ่งจะทำให้มีความเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำหรือคลองต่าง ๆ และจำเป็นจะต้องใช้ปริมาณน้ำมาผลักดันความเค็มเพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วย. 512 – สำนักข่าวไทย