ตรัง 3 ก.ย. – โรงเรียนในพื้นที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นำนักเรียนมาเรียนรู้การลงแขก “หน่ำข้าวไร่” หรือการปลูกข้าวไร่ ตามวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นปักษ์ใต้ ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ สืบสานและอนุรักษ์วิถีการทำไร่สมัยก่อนให้คงอยู่สืบไป
ที่แปลงปลูกข้าวไร่ ศูนย์เรียนรู้ข้าวปลอดภัย ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กลุ่มข้าวไร่ตำบลบางดี ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ดำเนินโครงการความมั่นคงทางอาหาร ข้าวตำบลบางดี โดยจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าว “ปลูกเดือนแม่ เกี่ยวเดือนพ่อ” (ปลูกเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวปลายเดือนธันวาคม-มกราคม รวมประมาณ 4-5 เดือน) ให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถม-มัธยมศึกษา ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่จาก 3 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านควนอารี โรงเรียนบ้านทุ่งยางงาม และโรงเรียนบางดีวิทยาคม รวม 100 คน ได้เรียนรู้วิธีการลงแขก “หน่ำข้าวไร่” วิธีการปลูกข้าวไร่ตามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนใต้ เมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อน และยังหวังรณรงค์ให้ทุกครอบครัวหันมาจัดสรรพื้นที่ปลูกข้าวไว้กินเอง ซึ่งปลอดภัยและลดรายจ่าย ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่
สำหรับการหน่ำข้าวไร่ ใช้อุปกรณ์ 2 อย่าง คือ กระบอกไม้ไผ่ ใช้สำหรับกรอกเมล็ดข้าวไว้เทใส่มือ แล้วนำไปหยอดใส่หลุมทีละหลุม และไม้ ต้นขนาดพอกำมือที่ตัดมาทั้งต้น สูงประมาณ 2-3 เมตร โดยเหลาส่วนปลายให้มน สำหรับใช้แทงลงไปในดิน หรือเรียกว่า “แทงสัก” สมัยก่อนคนแทงสักจะเป็นผู้ชาย เพราะต้องใช้กำลังและเดินเรียงหน้ากระดานในการทำหลุม ส่วนคนกรอกเมล็ดข้าวจะเป็นผู้หญิง ตั้งแถวเรียงหน้ากระดานหยอดเมล็ดข้าวลงหลุม โดยใส่หลุมละ 5-7 เมล็ด จากนั้นกลบหลุมไว้เบาๆ
น.ส.ทัศนีย์ สุขสนาน ตัวแทนกลุ่มข้าวไร่ตำบลบางดี บอกว่า ข้าวไร่ที่ปลูก คือ ข้าวดอกพะยอม เป็นข้าวพันธุ์พื้นถิ่น ต.บางดี และเป็นข้าวพื้นถิ่นของภาคใต้ เหตุที่จัดให้มีกิจกรรมแบบนี้ เพราะต้องการถ่ายทอดให้เด็กได้เรียนรู้การปลูกข้าวแบบดั้งเดิม เพื่อเอาไว้กินเอง เพราะทางกลุ่มพยายามรณรงค์รื้อฟื้นให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกข้าวกินเองกันมากขึ้น โดยทำกิจกรรมต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว พบว่าพื้นที่ทำไร่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%. – สำนักข่าวไทย