26 ส.ค. – สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ที่เชียงราย ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะ อ.ขุนตาล พื้นที่รองรับมวลน้ำแม่น้ำอิง ต่อจาก อ.เทิง น้ำหลากท่วมบ้านเรือนมาแล้ว 4 วัน เสียหาย 1,500 หลังคาเรือน
สถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย เริ่มลดระดับลงแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำภายในที่ว่าการอำเภอเทิง เพื่อเร่งระบายน้ำออกมาข้างนอก แต่มวลน้ำจากแม่น้ำอิง ได้ไหลลงไปที่ อ.ขุนตาล ส่งผลให้บ้านต้าน้ำอิง ม.15 และบ้านต้านาล้อม ม.15 ถูกน้ำอิงเอ่อท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านได้รับ ผลกระทบแล้ว 1,500 ครัวเรือน ประกอบด้วยพื้นที่ หมู่ 1-19 ตำบลต้า หมู่ 1-14 ตำบลป่าตาล และ หมู่ 21 ตำบลยางฮอม พื้นที่การเกษตรเสียหาย
ทั้งนี้ พื้นที่ อ.ขุนตาล ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับมวลน้ำต่อจากอำเภอเทิง บวกกับมวลน้ำที่มาจาก พะเยาไหลมาสมทบ จนทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำอิงล้นฝั่ง เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลต้าและ ตำบลป่าตาล ถนนถูกน้ำท่วมเป็นทางยาว
พรุ่งนี้ “ทักษิณ” ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยที่ จ.เชียงราย
ในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการ ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงราย โดยมีกำหนดการ เดินทางออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 09.00 น. เมื่อไปถึงท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จะลงพื้นที่ ต.ตับเต่า อ.เทิง เพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยและรับประทานอาหารร่วมกับผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้าน จากนั้นจะเข้าพื้นที่ ต.ปางค่า อ. เทิง มอบถุงยังชีพ ที่บ้านปางค่า และจะต่อ ไปยังตำบลเวียง อ.เทิง พบปะชาวบ้าน มอบเครื่องยังชีพที่จำเป็น ก่อนเดินทางกลับ
กรมศิลปากรเร่งติดตั้งแนวบังเกอร์ ป้องกันโบราณสถาน
จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 3 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่อยุธยา ขณะนี้พบว่าระดับน้ำที่หน้าโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามสูงอย่างรวดเร็ว ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 1.10 เมตรเท่านั้น สำนักงานศิลปากรที่ 3 จึงได้ติดตั้ง ยกแนวพนังกั้นน้ำบังเกอร์แบบน็อกดาวน์กว้าง 120 เซนติเมตร สูง 190 เซนติเมตร จำนวน 138 แผ่น ความยาวเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 165 เมตร เสร็จเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงกรุผ้าใบป้องกันน้ำ เพื่อไว้เป็นแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ทั้งนี้ เพื่อความไม่ประมาท เพราะแม้ว่าระดับน้ำยังอยู่ห่างตลิ่ง แต่จะไม่ให้เกิดเหตุ ซ้ำรอยโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังเตรียมกระสอบทราย นับพันถุงไว้รองรับ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถขนย้ายป้องกันน้ำท่วมได้ทันที
ด้านอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ เวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะทำให้ระหว่างวันที่ 16-26 ส.ค. จะยังมีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา และนครศรีธรรมราช รวม 68 อำเภอ 270 ตำบล 1,469 หมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 30,953 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 19 ราย
ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย .-สำนักข่าวไทย