กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – สภาพัฒน์ฯ แถลง GDP ไทย ไตรมาส2/2567 ขยายตัว 2.3% การลงทุนภาครัฐทำได้ดีขึ้น ประมาณการ GDP ทั้งปี 2567 โต 2.3-2.8% จับตาหากดิจิทัลวอลเล็ต เดินหน้าต่อ ต้องพิจารณาทั้งแหล่งเงิน-ระบบจ่ายเงิน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสแรกของปี และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ขยายตัวจากไตรมาสแรก 0.8% รวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.2% ได้รับอานิสงค์จากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ 6.2%
โดยด้านการใช้จ่าย การอุปโภคภาครัฐบาล และการส่งออกสินค้าและบริการ ปรับตัวดีขึ้น และการอุปโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐปรับตัวลดลง
ขณะที่ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว สาขาที่พักแรม และบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สาขาการก่อสร้างและสาขาเกษตรกรรมปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจหลัก นำโดยสหรัฐฯ และจีนขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
สำหรับประมาณการ GDP ปี 2567 อยู่ที่ 2.3-2.8% ค่ากลางอยู่ที่ 2.5% ลดลงประมาณการครั้งที่แล้ว (20 พ.ค.67 ) ที่อยู่ในระดับ 2.0 – 3.0 % ส่วนหนึ่งมาจาก การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถเบิกจ่ายได้ดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นในระดับ 0.4 – 0.9 % และดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 2.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการโลก
นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่าจะต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร หากรัฐบาลดำเนินมาตรการนี้ต่อจะต้องดูว่ามีการปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน จากเดิมที่มีข้อเสนอสำคัญไป 2 เรื่อง คือแหลงที่มาของเงิน จากงบประมาณปี 67 ที่มีการใช้จ่ายแล้ว และงบประมาณปี 68 ที่ ที่จะเข้ามาวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะต้องดูว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง และอีกหนึ่งเรื่องคือ ระบบของการใช้จ่ายเงิน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพูดคุยกันในระดับนโยบาย และสอบถามความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ แต่ถ้าหากไม่มีมาตรการนี้จะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มรายได้น้อย ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างน้อย 1 มาตรการ
ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาหนี้เสีย จะต้องพูดคุยกันในระดับนโยบาย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงคลัง โดยจะหามาตรการแบบมุ่งเป้ามากขึ้น ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในระดับหนึ่งแล้ว และต้องรอความชัดเจนอีกไม่นาน. -516-สำนักข่าวไทย