กรุงเทพฯ 14 ส.ค. – คลังชู NaCGA ยกระดับค้ำประกันทั้งระบบ ช่วยออกใบรับรองความเสี่ยง ค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย
นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) หวังยกระดับกลไกการค้ำประกันของภาครัฐ เพื่อช่วยให้ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนหลากหลายด้วยต้นทุนเหมาะสม NaCGA เป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การค้ำประกันมีความรวดเร็วและยืดหยุ่น พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐน้อยลง รูปแบบการค้ำประกันที่มีความหลากหลายและมีกลไกการคำนวณค่าธรรมเนียมค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้เป็นรายบุคคล
โดย NaCGA มีเป้าหมาย ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดต้นทุนทางการเงิน ตลอดจนให้ความรู้และให้คำปรึกษาทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ โดย NaCGA ไม่จำกัดเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อจากธนาคาร แต่จะครอบคลุมถึงกระบวนการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ค้ำประกันแหล่งทุนจาก (Non-Bank) การค้ำประกันหุ้นกู้ของผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น โดยค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันจะอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs ได้
การค้ำประกันสินเชื่อของ NaCGA จะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee Approach) และรายสัญญา ลูกหนี้จะขอให้ NaCGA ค้ำประกันเครดิตของตน และเมื่อได้รับการค้ำประกันแล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกธนาคารหรือ Non-bank ให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของลูกหนี้มากที่สุด จึงเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ครบวงจรและเบ็ดเสร็จ NaCGA จะทำหน้าที่ในการให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายอีกด้วย รวมทั้งเป็นเครื่องมือผลักดันอุตสาหกรรม 8 กลุ่มเป้าหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยมีคณะกรรมการกำกับนโยบาย ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ กำกับนโยบายและทิศทางขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐในระยะยาวได้ ทำให้ภาครัฐสามารถส่งผ่านนโยบายในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศผ่านองค์กรนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ
สำหรับแหล่งเงินจากเงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอรับการค้ำประกัน โดย NaCGA จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการในด้านสภาพคล่องได้อย่างทันการณ์ โดยเฉพาะในภาวะที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจสูง เช่น กรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้ง NaCGA นำไปสู่ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ใหม่สำหรับภาคธุรกิจไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ดังนี้ (1) ภาคธุรกิจและประชาชน เข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งเงินทุน ด้วยต้นทุนเหมาะสมกับความเสี่ยงของตนมากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ (2) สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ สามารถลดต้นทุน การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ลดภาระการตั้งสำรอง
(3) หน่วยงานภาครัฐ มีเครื่องมือ ดูแลกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการค้ำประกันเครดิต หลากหลาย และมีฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิตสมบูรณ์ขึ้น (4) เศรษฐกิจไทย มีกลไกช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนช่วย ผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต. -515-สำนักข่าวไทย