กรุงเทพฯ 1 ต.ค. – Krungthai COMPASS เผยแนวคิดในการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA ถือเป็นความริเริ่มสำคัญในการสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่มุ่งเน้นการดูแลความเสี่ยงของผู้ขอกู้เฉพาะราย โดยเฉพาะ SME กลุ่มเปราะบางที่ยังคงมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งทุน จากความแตกต่างสำคัญจากกลไกค้ำประกันสินเชื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ ผู้ขอกู้สามารถซื้อประกันจาก NaCGA ได้โดยตรง โดย NaCGA จะออกเอกสารการันตีให้ตามระดับความเสี่ยง จากนั้นผู้ขอกู้สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ขอกู้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยง ทั้งยังลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ
คาดว่าการจัดตั้ง NaCGA จะช่วยเพิ่มปริมาณสินเชื่อและธุรกรรมทางการเงินในระบบ ทั้งยังช่วยขยายฐานผู้ประกอบการ SME รวมถึงส่งเสริมการจ้างงาน นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับระดับความเสี่ยงของผู้ขอกู้เป็นการเฉพาะรายจะช่วยลดปัญหาการเกิดหนี้เสียที่เกิดจากการขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงของผู้กู้ลงได้อีกด้วย แนวคิดของรัฐบาลที่เสนอให้จัดตั้ง สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA ถือเป็นความริเริ่มสำคัญในการสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่มุ่งเน้นการดูแลความเสี่ยงของผู้ขอกู้เฉพาะราย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางรายย่อยที่บางส่วนยังคงมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งทุน
โดยหน่วยงานค้ำประกันสินเชื่อที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency) หรือ NaCGA แห่งนี้ มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการค้ำประกันมีความรวดเร็วและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการประกันความเสี่ยงทางการเงินให้ประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อ ช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นโดยมีกลไกการคำนวณค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่อิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2568 โดย NaCGA มีเป้าหมายและพันธกิจหลัก ดังนี้
1.ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดต้นทุนทางการเงิน ตลอดจนให้ความรู้และให้คำปรึกษาทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ
2.เป็นเครื่องมือเพื่อผลักดัน Strategic Direction ของประเทศตามนโยบายของภาครัฐและสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถก้าวเข้าสู่บริบทโลกใหม่
3.เป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤตและมีความเสี่ยงในระบบการเงินสูง. -515- สำนักข่าวไทย