รัฐสภา 31 ส.ค.-สนช.มีมติรับหลักการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มีชัยยืนยันเขียนกฎหมายเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างผู้ว่าฯสตง.และคตง.
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วงบ่ายวันนี้ (31 ส.ค.)มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่งเป็นประธาน พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า ในอดีตมีปัญหาการทำงานระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ที่ต่างฝ่ายต่างทำงาน ไม่บูรณาการการทำงานร่วมกัน
“องค์กรตรวจเงินแผ่นดินถือเป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ผู้ว่าฯ สตง. โดยมีคตง.กำหนดมาตรฐาน และวางนโยบายให้ผู้ว่าฯสตง.เพียงผู้เดียวปฏิบัติ ดังนั้น หากความสัมพันธ์ไม่ชัดเจนหรือไม่ดีพอ จะเกิดความขัดแย้งได้ตลอดเวลา การยกร่างกฎหมายครั้งนี้จึงแก้ไขเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันใกล้ชิดมากขึ้น โดยให้ ผู้ว่าฯสตง.ร่วมประชุมกับคตง. โดยตลอด แต่ไม่ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียง” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับอำนาจการตรวจสอบของผู้ว่าฯสตง. หากพบการทุจริตหรือการกระทำผิดระเบียบการใช้เงินแผ่นดิน จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อ เว้นแต่หากสตง.พบเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ถูกกล่าหาทุจริต สตง.สามารถสอบสวนให้แล้วเสร็จ ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการต่อได้ พร้อมมอบหมายให้กรมบัญชีกลางเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายของสตง. โดยให้มีประธานวุฒิสภาและผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบให้การตรวจสอบของกรมบัญชีกลางเป็นไปอย่างอิสระ เช่นเดียวกับมาตรฐานที่สตง.ตรวจสอบหน่วยงานอื่น เพื่อให้เกิดการตรวจสอบซึ่งกันและกัน
“กรธ.ลำบากใจในการร่าง เพราะหลายฝ่ายต้องการให้มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น บางฝ่ายมีความคับแค้นใจจากการถูกตรวจสอบ และผู้ตรวจก็ลำบากใจในการตรวจสอบ การยกร่างครั้งนี้ กรธ.พยายามชั่งน้ำหนักตลอดเวลา ว่าเรื่องใดควรทำหรือไม่ควรทำ เพื่อไม่ให้การทำงานของส่วนราชการชะงักหรือการที่สตง.ต้องการอำนาจเพิ่มในการฟันทุจริต ส่งฟ้องเอง แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะ สตง.ไม่มีความชำนาญ ซึ่งหลายเรื่องผู้ถูกตรวจสอบร้องเรียนว่าผู้ตรวจสอบไม่ให้เกียรติ กรธ.จึงบัญญัติขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบต้องมีมาตรฐาน ทั้งนี้ อำนาจการตรวจเงินแผ่นดินเป็นของผู้ว่าฯสตง.เพียงผู้เดียว ส่วนคตง.มีอำนาจเพียงวางนโยบายเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกำหนดแนวทางการถูกตรวจสอบของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากแต่ละหน่วยงาน มีรูปแบบการทำงานแตกต่างกัน” ประธานกรธ. กล่าว
ด้านสมาชิกสนช. ส่วนใหญ่สนับสนุนหลักการที่กรธ.วางกลไกการทำงานระหว่างคตง.และผู้ว่าฯสตง.ที่ต้องมีเอกภาพในการทำงาน และจะต้องบูรณาการงานร่วมกัน และยังเห็นว่าปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นนั้น สตง. ควรมีการกำหนดนโยบายการใช้จ่าย ให้เป็นแนวทางการปฏิบัติอย่างชัดเจน
จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ด้วยคะแนน 164 ต่อ 1 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 30 คนพิจารณาภายใน 50 วัน แปรญัตติภายใน 7 วัน.-สำนักข่าวไทย