นครราชสีมา 6 ส.ค. – สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เตือนช่วงนี้ฝนตกหนัก หลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน เสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนู เผยครึ่งปีพบป่วยเกือบ 1,500 ราย เสียชีวิต 17 ราย แนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นช่วงฤดูฝน
นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง บางพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขัง เสี่ยงมีโรคและภัยสุขภาพที่มากับช่วงฤดูฝน
นอกจากโรคติดต่อทางระบบหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 แล้ว ยังมีโรคติดต่อจากการสัมผัส เช่น โรคมือ เท้า ปาก โรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน และโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง เชื้อโรคเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หากไม่ป้องกันดูแลสุขภาพของตนเอง ก็จะเสี่ยงเจ็บป่วย ติดเชื้อโรคได้โดยง่าย
สถานการณ์โรคฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 มิถุนายน 2567 หรือประมาณครึ่งปี พบผู้ป่วยแล้ว 1,458 ราย และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 45-54 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร มากถึง 33.5%
โรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา ที่ปนมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข น้ำฝนจะชะล้างเชื้อโรคไหลลงสู่แหล่งน้ำ ถ้าเราเดินเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้าบู๊ท หรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า หรือสวมอุปกรณ์ป้องกัน เชื้อนี้สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีบาดแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก
อาการหลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง หรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษา หรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ซึ่งอาการระยะแรกของโรคไข้ฉี่หนู จะคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยหลายรายเข้ารับการตรวจรักษาล่าช้า เนื่องจากซื้อยารับประทานเอง เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคนี้. – สำนักข่าวไทย