กรมสรรพสามิต 31 ส.ค. – ภาคเอกชนปรับตัวรองรับภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ผลักดันให้ผู้ผลิตปรับสูตรสินค้า พร้อมเข้ามาตรฐานติดฉลาก “โภชนาการทางเลือกเพื่อสุขภาพ” แนะจัดเก็บภาษีเป็นธรรมทั่วถึง บางประเภทยังไม่เสียภาษีแม้ทำลายสุขภาพ
นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา “ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่” ยอมรับว่าภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่มีระยะเวลาให้เอกชนปรับตัวด้วยการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป นวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ต้องเน้นการผลิตสินค้าดูแลสุขภาพ หากรายใดไม่ปรับตัวจะอยู่ไม่ได้ แต่มองว่าการจัดเก็บภาษีจากความหวานยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ เพราะโรคเรื้อรังร้ายแรงไม่ติดต่อ (NCDs) ยังมีอยู่สินค้าอื่น เช่น สินค้าชงดื่ม อย่างชาเย็น กาแฟ น้ำขิง ตามร้านทั่วไป จึงต้องการให้จัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม เพราะบางกลุ่มสินค้ายังไม่เสียภาษี ปัจจุบันสินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.น้ำอัดลม 2.เครื่องดื่มชูกำลัง เกลือแร่ น้ำดื่ม 3.น้ำผัก ผลไม้ นมถั่วเหลือง ฝาปิดผนึกต้องแจ้งเสียภาษีสรรพสามิต ขณะที่น้ำผลไม้ตามร้านค้าทั่วไปไม่ปิดผนึก คั้นสดแล้วจำหน่ายยังได้รับการยกเว้นภาษี
สำหรับผลการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จะทำให้ภาคเอกชนต้องปรับต้นทุนการผลิต เพื่อชดเชยภาระภาษี การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เปลี่ยนเป็นสินค้าสุขภาพ และอนาคตจะเห็นมาตรการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ เลือกสินค้าไม่ทำลายสุขภาพ ด้วยการสมัครเข้ามาตรฐานรับรอง สัญลักษณ์ “โภชนาการทางเลือกเพื่อสุขภาพ” เพื่อติดฉลากให้ประชาชนรับรู้ว่าความหวานน้อยเหมือนกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ยอมรับว่าภาคเอกชนเครื่องดื่มความหวานต้องปรับตัวรับรองมาตรฐาน “เครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ” จาก 44 ในปี 60 เพิ่มเป็น 124 รายในช่วง 5 ปีข้างหน้า และการปรับสูตรการผลิตลดความหวานจาก 19 รายในปี 60 เพิ่มเป็น 81 รายใน 5 ปีข้างหน้า และขอให้ลดการดุลพินิจจากเจ้าหน้าที่ในการประเมินฐานภาษีจากผู้ประกอบการ
นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ไม่ส่งผลให้ราคารถยนต์ปรับเพิ่มหรือลดลงมากนัก แต่ส่งผลให้รถยนต์บางรุ่นปรับลดลง บางรุ่นผลิตใหม่ออกสู่ตลาดปรับเพิ่มขึ้นตามรุ่นการผลิต เพราะขณะนี้รถยนต์แข่งขันค่อนข้างสูง ในปีนี้ยังคาดว่าจะผลิตได้ 1 ล้านคัน โดยช่วง 7 เดือนแรกผลิตได้ 830,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ยอมรับว่าส่งผลให้ค่ายรถยนต์ผลิตรุ่นใหม่ออกมาต้องดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายธนากร คุปตจิต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลเน้นมาจัดเก็บภาษีด้านปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นกว่าการคำนวณจากราคา ทำให้แอลกอฮอล์สูงต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลยืนยันว่าการกำหนดอัตราภาษีใหม่จะไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค จึงทำให้การปรับอัตราภาษีไม่กระทบต่อผู้ผลิตและผู้นำเข้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่กำหนดโทษรุนแรงขึ้น ค่าปรับและเงินเพิ่ม 4-5 เท่าของมูลค่าสินค้า จึงทำให้สินค้าที่เคยหลีกเลี่ยงภาษีเข้าสู่ระบบมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย